ไทยลีก ประชุมร่วมกับ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ภายใต้กรอบความร่วมมือตามข้อตกลง MOU ระหว่าง สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ และ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อพูดคุยเรื่องการตรวจเชื้อโควิด-19 ก่อนกลับมาแข่งขัน โดยเตรียมนำแนวทางที่หารือพูดคุยกับ ศบค.วันอังคารนี้
โดยการประชุมครั้งนี้ พล.ต.อ. ดร. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ มอบหมายให้ กรวีร์ ปริศนานันทกุล ในฐานะรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารดำเนินการ ซึ่งเนื้อหาเป็นการพูดคุยถึงเรื่องการตรวจเชื้อโควิด-19 ในนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ทีมของสโมสรต่างๆ เพื่อเตรียมการก่อนกลับมาแข่งขันหลังการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่
สำหรับประเด็นที่หารือได้แก่ รูปแบบการตรวจเชื้อ ความถี่ของการตรวจเชื้อ และการขอความร่วมมือระหว่างสโมสรกับโรงพยาบาลจังหวัด เพื่อกระจายและเพิ่มกำลังการตรวจ โดยจะนำแนวทางที่ได้หารือกัน ไปพูดคุยกับ ศบค. ในวันอังคารนี้ เช่นเดียวกับการเสนอมาตรการจัดแข่งขัน ที่ได้มีการประสานกับ กกท. และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งการหารือกับ ศบค. ครั้งนี้ เป็นการพูดคุยกันรอบใหม่ หลังจากที่เคยเสนอมาตรการแข่งแบบปิด ไปเมื่อการระบาดระลอกแรก
โดยเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2564 เวลา 11.00 น. ณ ห้องประชุมบริษัท ไทยลีก จำกัด ฝ่ายจัดการแข่งขันไทยลีก จัดประชุมร่วมกับ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งมี กรวีร์ ปริศนานันทกุล รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยลีก จำกัด เป็นประธาน พร้อมด้วย นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ก่อนจะนำข้อมูลไปเสนอแก่ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ต่อไป
กรวีร์ กล่าวหลังจบการประชุมว่า “ไทยลีกและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้มีการพูดคุยกันถึงเรื่องแนวทางในการตรวจเชื้อโควิด-19 ของนักกีฬา ก่อนที่จะกลับมาแข่งใหม่ในครั้งนี้ เช่น รูปแบบในการตรวจโควิด ความถี่ที่เหมาะสม ซึ่งรอบนี้อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงต่างไปจากครั้งที่แล้ว เนื่องจากทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แจ้งว่า ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อระลอกใหม่ ทำให้อาจมีข้อจำกัดในเรื่องของบุคลากรทางการแพทย์ และศูนย์บางศูนย์ ที่อาจไม่สามารถเดินทางออกไปเก็บตัวอย่างเชื้อได้”
“ทำให้ครั้งนี้ คงต้องขอความร่วมมือจากสโมสร ในการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานสาธารณสุข และโรงพยาบาลในพื้นที่มากขึ้น เช่น อาจจะมีการร่วมกันจัดเก็บตัวอย่างเชื้อ ด้วยชุดเครื่องตรวจที่ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จัดไว้ให้ และส่งตัวอย่างไปตรวจตามศูนย์แล็บในจังหวัดหรือภูมิภาคนั้น โดยตอนนี้เราก็กำลังรอสรุปแนวทางที่ชัดเจนกับทางกรมฯ อยู่ ก่อนจะแจ้งให้กับทุกสโมสร ทั้งไทยลีก 1-2 ได้ทราบอีกครั้ง เพื่อให้มีเวลาเตรียมตัวก่อนกลับมาแข่งขัน”
“สำหรับการประสานกับทาง ศบค. ในครั้งนี้ ขั้นตอนต่างๆ ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย จากครั้งที่ผ่านมาตอนระบาดระลอกแรก เพราะคราวที่แล้ว เราสามารถที่จะเสนอเรื่อง เสนอมาตรการตรงไปที่ ศบค. ได้เลย แต่ครั้งนี้เรื่องทุกเรื่อง มีความจำเป็นต้องผ่านขั้นตอนของกระทรวงแต่ละกระทรวงที่กำกับดูแลก่อน”
“อย่างฟุตบอล เราต้องเสนอเรื่องผ่านไปที่ กกท. ก่อนจะประสานผ่านไปยังกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อที่จะได้ข้อสรุปร่วมกัน ก่อนที่จะนำเสนอไปที่ ศบค. อย่างไรก็ตาม ทางไทยลีกและสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ได้ประสานงาน และมีการพูดคุยในขั้นตอนร่วมกับกกท. และกระทรวงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”
“ตอนนี้สิ่งที่ไทยลีกได้ทำ หลังจากที่ประชุมสโมสรมีความเห็นพ้องให้เลื่อนการแข่งขัน เมื่อวันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมา ก็คือการเตรียมมาตรการต่างๆ เพื่อที่จะกลับไปคุยกับ ศบค. อีกครั้ง หลังจากที่เคยเสนอมาตรการแข่งแบบปิดไปเมื่อการระบาดระลอกแรก ซึ่งครั้งนี้ ต้องผ่านขั้นตอนของการปรึกษาหารือร่วมกัน และนำเสนอแผนระหว่างสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ, ไทยลีก, กทท. และกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา โดยวันอังคารนี้จะมีการพูดคุย กำหนดมาตรการรวมถึงข้อกำกับต่างๆ ที่ชัดเจนจากทาง ศบค. ออกมา”
“เมื่อดูจากไทม์ไลน์แล้วเราก็คาดหวังให้ฟุตบอลกลับมาแข่งขันให้เร็วที่สุด ซึ่งก็คาดว่าอาจจะเป็นช่วงปลายเดือนมกราคม หรือว่าอย่างช้าไม่เกินช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ครับ” กรวีร์ กล่าวทิ้งท้าย