วิทยา เลาหกุล ประธานฝ่ายพัฒนาเทคนิค สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ กล่าวถึง การเข้าร่วมงานสัมมนา เรื่องการพัฒนาเยาวชนในทวีปเอเชีย ครั้งที่ 2 ประจำปี 2017 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 14-16 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา
การสัมมนาดังกล่าว มี 43 ประเทศสมาชิกในทวีปเอเชีย เข้าร่วมสัมมนาโดยมีวิทยากรมากมายที่เข้ามาบรรยายให้ความรู้ อาทิ มร. แอนดี้ ร็อกซ์เบิร์ก ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคของสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย หรือ เอเอฟซี และตัวแทนชาติสมาชิกที่เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลเยาวชนโลก รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี และ รุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี
โดยคุณวิทยา เลาหกุล ประธานฝ่ายพัฒนาเทคนิค สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ กล่าวถึงการสัมมนาครั้งนี้ว่า “การสัมมนาดังกล่าวสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย จัดขึ้นทุกปี ส่วนมากผู้มาร่วมงานจะเป็นประธานเทคนิคของแต่ละประเทศสมาชิก แต่ปีนี้เขาอนุญาตให้นำเจ้าหน้าที่ของชาติสมาชิกมาร่วมรับฟังบรรยายด้วย เนื่องจากฟุตบอลในปัจจุบันมีรายละเอียดเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข่าวสารต่างๆ ในวงการฟุตบอล, การแลกเปลี่ยนทัศนคติ เกี่ยวกับฟุตบอลสมัยใหม่ รวมทั้งมีการวิเคราะห์กันว่า ทำไมทีมชาติอังกฤษ ถึงประสบความสำเร็จในการแข่งขันฟุตบอลเยาวชนโลก รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี และรุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี”
“ประเทศไหนที่เก็บรายละเอียดได้เยอะก็จะได้ประโยชน์มาก การไปสัมมนาครั้งนี้เราได้เรียนรู้ว่า การคัดเลือกนักเตะที่มีพรสวรรค์ต้องทำอย่างไร การวางรูปแบบการเล่นทุกอย่างต้องเริ่มจากอคาเดมี ไม่ใช่ลอกเลียนแบบชาติที่ประสบความสำเร็จ”
“เราต้องมีสไตล์ของตัวเอง อย่างที่เรามี ไทยแลนด์ เวย์ ซึ่งมันช่วยให้เราพัฒนาช่องว่างระหว่างเรากับชาติระดับท็อปของเอเชีย หรือ การยกระดับชาติในเอเชีย ไปสู้กับชาติในทวีปยุโรป”
“เราได้เปลี่ยนเปลี่ยนความรู้กับชาติสมาชิก ในทวีปเอเชีย และระดมความคิดช่วยกันว่ามาตรฐานฟุตบอลเอเชีย ตอนนี้อยู่ตรงไหน เราต้องพัฒนาการแข่งขันฟุตบอลในระดับเยาวชนนานาชาติอย่างไร เราจะพัฒนาผู้เล่นอย่างไรให้มีมาตรฐานสูงขึ้น เราจะช่วยผู้ฝึกสอนทีมชาติพัฒนาความรู้อย่างไร”
“ณ ตอนนี้ เราเห็นภาพชัดเจนว่า เราไม่มีผู้ฝึกสอนไทยในต่างแดนเลย แต่หากเปรียบกับญี่ปุ่น เขาส่งผู้ฝึกสอนไปอยู่ทุกที่ทั่วโลก ทั้งในอาเซียน, อเมริกาใต้, อเมริกากลาง, แอฟริกา ซึ่งตรงนี้ถือเป็นหลักสำคัญในเรื่องของการเรียนรู้ ซึ่งผมจะพยายามรวบรวมความรู้ทั้งหมด เขียนเป็นบทความให้โค้ชชาวไทยทุกคนได้อ่าน”
“ปีที่ผ่านมา เราเห็นทีมชาติอังกฤษ ประสบความสำเร็จในฟุตบอลเยาวชน สิ่งสำคัญที่เราต้องเรียนรู้จากเขาคือ เขาประสบความสำเร็จเพราะอะไร เราต้องรู้รายละเอียดว่า เขาพัฒนาผู้เล่นอย่างไร โดยเฉพาะความกระหายในชัยชนะ”
“อีกเรื่องก็คือการคัดเลือกผู้เล่นมาติดทีมชาติ เราต้องดูอะไรเป็นหลัก อังกฤษ เขามีการรวมตัวก่อนทัวร์นาเมนต์ แค่ 36 วัน เท่านั้น ก่อนหน้านี้อังกฤษ ไม่เคยไปได้ไกลเลยในการแข่งขันระดับต่างๆ แต่เขาก็พัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ ซึ่งเมื่อเรามองต้นตอแล้วพบว่าทั้งหมดมันมาจากการยกระดับอคาเดมีของพวกเขา ซึ่งเป็นการประสานงานร่วมกันระหว่างอคาเดมีของสมาคมฟุตบอลอังกฤษ กับ สโมสร ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับประเทศทั่วโลก”
“แต่ในทวีปเอเชีย จาก 43 ประเทศ มีเพียงแค่ 13 ประเทศเท่านั้นที่มีศูนย์ฝึกฟุตบอลเป็นของสมาคมฯ เอง และถ้าเป็นฟุตบอลหญิงนั้นมีแค่ 8 ประเทศเท่านั้น ส่วนอคาเดมีสโมสรของฟุตบอลชายนั้น มีแค่ 8 ประเทศ และหนึ่งในนั้นก็เป็นประเทศไทย ส่วนอคาเดมีสโมสรฟุตบอลหญิงก็มีญี่ปุ่น กับ ไทย ซึ่งตรงนี้หากดูจากข้อมูลที่ได้รับมา เราอยู่ในเส้นทางที่ถูกต้องในการพัฒนาอคาเดมี ต้องขอบคุณทุกสโมสรที่ให้ความสนใจกับอคาเดมีมากขึ้น”
“ตอนนี้เรามีอคาเดมีของสโมสร ประมาณ 7-8 สโมสร ส่วนฟุตบอลหญิงน่าจะมีอคาเดมีอยู่แค่ 1 สโมสร เท่านั้น เราต้องพยายามมองย้อนกลับไปอีกว่าทำไมเรามีอคาเดมีฟุตบอลหญิงแล้ว แต่เวลาไปแข่งขันจริงถึงไม่ประสบความสำเร็จ ถ้าเปรียบกับเกาหลีเหนือ เขาไม่มีฟุตบอลลีกหญิง ไม่มีอคาเดมี แต่เขาประสบความสำเร็จได้”
“ สิ่งที่เราต้องทำคือ เพิ่มจำนวนอคาเดมีให้มากขึ้น และและต้องหาผู้เล่นที่มีคุณภาพ เราต้องพัฒนาฟุตบอลลีกหญิงให้เป็นระบบมากขึ้น รวมทั้งพยายามยกระดับคุณภาพของผู้เล่นทั้งหญิงและชายให้ดีขึ้นไปด้วย”
“อีกเรื่องที่เป็นปัญหาคือเรื่องภาษา การสัมมนาครั้งนี้มีหลายภาษาทั้ง รัสเซีย, จีน, อราบิก, ญี่ปุ่น, เกาหลี และ อังกฤษ แต่ไม่มีภาษาไทยเลย โค้ชบางคนอาจจะบอกว่าภาษาฟุตบอลมันเหมือนกัน แต่มันเหมือนแค่ในภาคปฏิบัติ แต่ในหลักวิชาการ ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ”
“คุณต้องอธิบายได้ทั้งหมดในรูปแบบของทฤษฎี อย่างเช่นสไตล์การเล่นของฟุตบอลไทย ฝ่ายเทคนิคของเราก็กำลังจะสร้างไทยแลนด์ เวย์ เราก็ต้องอธิบายให้ผู้ฝึกสอนทุกชุดเข้าใจ เพราะมันจะส่งผลต่ออนาคต ซึ่งเราก็ต้องวางรากฐานให้ถูกทั้งอคาเดมี และ ฟุตบอลระดับรากหญ้า โดยไม่ใช่การลอกเลียนแบบตามยุคสมัย” โค้ชเฮงกล่าวปิดท้าย
ข้อมูลและภาพ ฟุตบอลทีมชาติไทย