วันที่ 3 พฤษภาคม 2562 เวลา 14.00 น. ณ ที่ทำการสมาคมฯ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ร่วมกับ การกีฬาแห่งประเทศไทย และ สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย (เอเอฟซี) จัดการประชุมและแถลงข่าว เรื่องการเลือกใช้สนาม ที่จะใช้ในการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี รอบสุดท้าย 2020 (2020 AFC U-23 Championship)
การประชุมในครั้งนี้ นำโดย กรวีร์ ปริศนานันทกุล เลขาธิการสมาคมฯ พร้อมด้วย พาทิศ ศุภะพงษ์ รองเลขาธิการฝ่ายต่างประเทศ และรองโฆษกสมาคมฯ, จิน โฮ ยุน หัวหน้าคณะตรวจสนามจากเอเอฟซี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดการแข่งขัน และฝ่ายต่างประเทศ ของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ รวมถึงตัวแทนจากการกีฬาแห่งประเทศไทย
โดย จิน โฮ ยุน หัวหน้าคณะตรวจสนามจากเอเอฟซี กล่าวว่า “สวัสดีทุกท่าน ยินดีต้อนรับทุกท่าน ก่อนอื่นผมในฐานะตัวแทนจากเอเอฟซี ขอกล่าวขอบคุณ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ, การกีฬาแห่งประเทศไทย และเจ้าของสนามทุกสนาม ที่ให้การต้อนรับเราเป็นอย่างดี การเดินทางมาครั้งนี้ก็ถือเป็นครั้งที่สองแล้ว หลังจากที่เรามาตรวจครั้งแรกเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ครั้งนี้ก็เป็นครั้งที่สองที่เราลงมาตรวจอย่างละเอียดมากขึ้นในแต่ละสนาม เกี่ยวกับห้องต่างๆ โครงสร้างสนาม, สภาพสนาม, ไฟส่องสว่าง และแผนการต่างๆ รวมถึงรายละเอียดอีกมากมาย อีกทั้งยังมองถึงความเป็นไปได้ในการปรับปรุงตามระยะเวลาที่กำหนด รวมถึงสถานที่โดยรอบ ทั้งสนามซ้อม โรงแรมที่พักต่างๆ เพื่อให้พร้อมที่สุดสำหรับการแข่งขันระดับทวีป ซึ่งครั้งนี้เราก็ตรวจไปแล้ว 4 สนาม ประกอบไปด้วย ที่เชียงใหม่, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สงขลา และ ราชมังคลากีฬาสถาน”
“ณ ปัจจุบัน ทั้ง 7 สนาม ที่เราเดินทางไปดูเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ในเรื่องของการปรับเข้าสู่มาตรฐานไม่น่าเป็นห่วง แต่จะเป็นห่วงในเรื่องของระยะเวลาที่เหลืออยู่ เพราะตอนนี้มีเวลาไม่มาก เราจะเดินทางมาตรวจอีกครั้งในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ โดยสิ่งที่ต้องทำตอนนี้คือเจ้าของสนามทั้งหมด จะต้องทำหนังสือยืนยันความพร้อม และยินยอมที่จะปรับปรุง แก้ไขส่วนที่แนะนำไป ให้ผ่านมาตรฐานในช่วงเดือนตุลาคม โดยไทม์ไลน์ตรงนี้ก็มีเวลาไม่มาก ผมต้องการความเชื่อมั่นจากผู้ดูแลสนาม ทุกสนาม ในการที่จะส่งมอบสนามในช่วงปลายปีนี้ให้ได้”
“ตอนนี้แต่ละสนามก็ได้รับการรายงานจุดที่ต้องปรับปรุง ซึ่งผมคิดว่าภายในเดือนตุลาคม ทุกสนามที่ถูกเสนอ จะถูกปรับปรุง และมีความคืบหน้าที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ตามระเบียบของเจ้าภาพ หากเดือนตุลาคมที่จะมีการตรวจสอบสนามครั้งสุดท้าย ไม่มีความคืบหน้าชัดเจน หรือมีความเป็นไปได้ที่สนามจะเสร็จไม่ทันเวลา เอเอฟซีมีสิทธิ์เลือกสนามใหม่ที่มีความพร้อมในประเทศไทย กรณีที่สองหากไม่มีสนามใดในประเทศไทยพร้อม สิทธิการเป็นเจ้าภาพจะถูกริบคืน และมอบให้กับประเทศที่พร้อมที่จะจัดได้ในช่วงเดือนมกราคม เนื่องจากการแข่งขันรายการนี้เป็นการแข่งขันระดับขั้น 1 มี 16 ยอดทีมจากเอเชีย เข้ามาร่วมเล่น และมีโควต้าไปโอลิมปิกส์ ที่โตเกียว 2020 ดังนั้นมาตรฐานการจัดการแข่งขัน ต้องเป็นรูปแบบที่สูงที่สุดของเอเอฟซี”
“การแข่งขันรายการนี้ ยิ่งใหญ่เป็นอันดับสอง รองจากเอเชียน คัพ ทำให้มาตรฐานการถ่ายทอดสด และการจัดการแข่งขัน มีมาตรฐานที่สูงมาก ในเอเชียน คัพ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีผู้ชมผ่านทางทีวี ถึง 700 ล้านคน ขณะที่เอเชียน คัพ ครั้งก่อนที่ออสเตรเลีย มีผู้ชมกว่า 400 ล้านคน ผมมั่นใจว่ารายการนี้ก็เป็นรายการใหญ่ เรามั่นใจว่าจะมีแฟนบอลติดตามเข้ามาชม ติดตามเชียร์ทีมที่เข้าร่วมการแข่งขัน รวมถึงสื่อที่จะเข้ามาจะเข้ามาถ่ายทอดสด และรายงานผลอีกมากมาย”
“ในช่วงที่เปิดให้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลรายการนี้ก็มีหลายประเทศ ที่เสนอตัวมา และเป็นขั้นตอนที่ยากมากในการเลือกเจ้าภาพ แต่ด้วยสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ มีความต้องการ เพราะว่าเล็งเห็นไม่มีรายการใดที่จะปรับปรุง เปลี่ยนแปลง สนามฟุตบอลพร้อมๆ กันหลายสนาม เพื่อให้ทันสมัย และได้มาตรฐานระดับนานาชาติ นอกจากนี้ยังส่งเสริมการท่องเที่ยว และโปรโมตประเทศ เพื่อให้การแข่งขันเป็นที่นิยม”
“ขณะเดียวกัน สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ก็ยังมองว่าเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับทีมชาติไทย ในการผ่านเข้าไปเล่นโอลิมปิกส์ นี่คือเหตุผลที่พวกเขายื่นเข้ามาเป็นเจ้าภาพรายการนี้ นอกจากนี้ยังเป็นการพัฒนาศักยภาพบุคคล เพราะการจัดการแข่งขันจะเข้าสู่จังหวัดต่างๆ และมีทั้งอาสาสมัคร เจ้าหน้าที่ต่างๆ ซึ่งทั้งหมดก็จะได้รู้ระเบียบ กฏ ต่างๆ ในการจัดการแข่งขันฟุตบอลระดับนานาชาติ ซึ่งพวกเขาก็ตั้งใจมาก และเอเอฟซีก็มั่นใจว่าไทยสามารถเป็นเจ้าภาพที่ดีได้ และทีมชาติไทยก็อาจจะได้เป็นหนึ่งในทีมที่ได้สิทธิ์ไปเล่นโอลิมปิกส์ ที่โตเกียว”
“ประโยชน์ของการได้เป็นเจ้าภาพรอบสุดท้าย ก็คือ มาตรฐานของสนามได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัย และตรงตามมาตรฐาน และทำให้สนามแห่งนั้น หรือที่แห่งนั้น ในอนาคตสามารถจัดการแข่งขันฟุตบอลรายการใหญ่ของทีมชาติ รวมถึงสโมสร ก็จะพร้อม ในปัจจุบัน มีสนามไทยไม่กี่สนาม ที่พร้อมและผ่านมาตรฐาน หากไทยปรับปรุงสำเร็จ ไทยจะมีสนามเพิ่มอีกอย่างน้อย 4 สนามที่สามารถให้ทีมชาติไทย ใช้ทำการแข่งขันระดับนานาชาติได้”
ด้าน พาทิศ ศุภะพงษ์ รองเลขาธิการฝ่ายต่างประเทศ กล่าวเสริมว่า “การดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา เราก็มีการประสานงานกันมาตลอด วันนี้ก็ประชุม ก่อนหน้านี้เราก็ประชุมทั้งที่เชียงใหม่ และสงขลา วันนี้ก็มาประชุมที่ธรรมศาสตร์ และราชมังคลากีฬาสถาน เห็นได้ชัดว่าเรามีการประชุมกันอยู่ตลอดเวลา เราก็ต้องเข้าไปดูอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ทุกขั้นตอนมีความคืบหน้า และส่งให้กับเอเอฟซีทุกเดือน เพื่อให้แน่ใจว่าทุกอย่างดำเนินไปตามแผน”
“ณ ตอนนี้ทุกสนาม ที่เป็นแคนดิเดต มีความสำคัญเท่ากัน เพราะรายงานที่เราได้มอบไป ทุกสนามสามารถทำได้ แต่สนามไหนจะมาก่อน ก็ขึ้นอยู่กับ เจ้าของสนามออกหนังสือยืนยันให้สมาคมฯ ณ ปัจจุบัน สมาคมฯ ยังต้องรอหนังสือยืนยันความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพ จากแต่ละสนามในเดือนมกราคม เราลงนามรอบแรกไปแล้ว แต่เราจะมีการลงนามอีกครั้งว่าจะเป็นสนามใด โดยที่เจ้าของสนามนั้น จะต้องยืนยันตามที่เอเอฟซีแจ้งว่า จะสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ตามระยะเวลาที่กำหนด”
“รูปแบบการแข่งขันในปัจจุบัน ไม่ว่าจะฟุตบอลโลก หรือ เอเชียน คัพ ก็จะมีการหมุนเวียนสนาม คือเล่นหนึ่งแมตช์ ทีมก็ต้องย้ายเมือง ซึ่งตรงนั้นจะเป็นรูปแบบหนึ่งที่ทำได้ หรือจะเป็นการให้ทีมแต่ละกลุ่มประจำอยู่ที่สนามใดสนามหนึ่ง เพียงแต่ว่าค่าใช้จ่ายในการเดินทางของทุกทีมที่เข้าร่วมการแข่งขัน เราไม่สามารถบอกได้ว่าทีมชาติไทย จะย้ายเพียงแค่ทีมเดียว ถ้าจะย้ายต้องย้ายทุกทีม ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น หากต้องเดินทาง ค่าเครื่องบินของนักกีฬา เจ้าหน้าที่ จะเป็นหน้าที่ของสมาคมฯ เราเองก็คิดเอาไว้ ตอนนี้มี 2 ช่องทาง ก็ต้องรอรายละเอียดก่อนว่าจะใช้สนามใดบ้าง”
ส่วน กรวีร์ ปริศนานันทกุล เลขาธิการสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า “หลังจากที่ประชุมกัน AFC ก็ได้ยืนยันเรื่องไทม์ไลน์ในการปรับปรุงสนาม และอย่างที่เห็นคือทั้ง 7 สนาม ไม่มีสนามใดเลยที่เป็นของสมาคมฯ เราจำเป็นต้องประสานงาน ขอความร่วมมือจากทั้ง 7 สนาม เพื่อให้พวกเขาปรับปรุงให้ตรงกับความต้องการ และมาตรฐานที่เอเอฟซี กำหนด ในส่วนของสมาคมฯ ก็พยายามประสานงาน และทำงานอย่างใกล้ชิด กับ อบจ., เอกชน และ การกีฬาแห่งประเทศไทย ต้องย้ำอีกครั้งว่าการแข่งขันชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี เป็นทัวร์นาเมนต์ที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง หากสนามใดไม่ผ่าน เอเอฟซี ก็ต้องพิจารณาหาสนามอื่น แต่ถ้าผิดพลาดจริงๆ ไม่มีสนามใดผ่าน ก็จะเสียโอกาสการเป็นเจ้าภาพ ในฐานะคนไทย นี่คือชื่อเสียง ความภาคภูมิใจ และหน้าตาของประเทศไทย”
“ขอบคุณทุกคนๆ ที่ติดตามและให้ความสนใจ คิดว่านี่น่าจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับวงการฟุตบอลไทย และแฟนบอลชาวไทย ถ้าหากเรามีการปรับปรุงสนามให้สามารถจัดการแข่งขันระดับนานาชาติ เราก็จะมีทางเลือกที่จะนำทีมชาติไทย ออกไปสู่สายตาแฟนบอลที่ต่างจังหวัด ในสนามที่สามารถจัดการแข่งขันได้ นอกเหนือจากราชมังคลากีฬาสถาน ที่เราใช้จัดอยู่เป็นประจำ”
สำหรับการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2020 จะทำการแข่งขันในช่วงเดือนมกราคม 2563 โดยจะหา 3 ทีม ที่ทำผลงานได้ดีที่สุดเป็นตัวแทนของทวีปเอเชีย เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอล ในมหกรรมโอลิมปิกส์ ที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
ขอขอบคุณ : Fair