ข่าวฟุตบอลเหรียญมีสองด้าน : เปิดมุมมองทุกฝ่าย ซีเกมส์ ควรจริงจังหรือ มองเป็นกีฬาพื้นบ้าน
buaksib sport news
ซีเกมส์

ถือเป็นประเด็นโลกแตก ว่าในกีฬาซีเกมส์ สำหรับกีฬาฟุตบอลชายนั้น มันควรจริงจังมากแค่ไหน ฝ่าหนึ่งบอกคือศักดิ์ศรี ทีเราต้องเป็นแชมป์ ต้องเอาเหรียญทอง อีกฝ่ายมองว่า มันไม่ได้มาตรฐาน เป็นแค่กีฬาพื้นบ้าน กีฬาสมัครเล่นที่เราไม่ควรจริงจัง เราควรยืนอยู่ตรงจุดไหนดี

นับถอยหลังอีกเพียงไม่ถึงเดือน มหกรรมการแข่งขัน ซีเกมส์ ก็จะเริ่มขึ้นแล้ว และกีฬาที่ถือว่าถูกจับตามองมากที่สุด ชนิดหนึ่งก็คงหนีไม่พ้น ฟุตบอลชาย ทีมชาติไทย

ที่ว่าถูกจับตามองก็คือ นี่คือกีฬาความหวังของแฟนบอลมากมาย ที่หวังว่าทีม จะได้เหรียญทองมาครอง เพื่อประกาศศักดา ว่าเป็นเบอร์ 1 อาเซียน ไม่ต่างกับ AFF Suzuki Cup

แต่อย่างที่ได้ติดตามข่าวไป ณ ตอนนี้ หลายชาติเริ่มมีการเตรียมทีมแตกต่างจากไทย ที่ยังแก้ไม่ตก จะเอานักเตะจากไหน ในเมื่อ การแข่งขันฟุตบอลลีกภายในประเทศ นั้นทับซ้อน และคาบเกี่ยวกับการแข่งขันฟุตบอลซีเกมส์ พอดีเป๊ะ และมันเลยเกิดคำถามว่า มันควรจะจบลงที่ตรงไหน เราจะมาสวมหมวกทีละใบ เพื่อจำลองความคิด

หมวกใบที่ 1 – ทีมชาติ

หากมองไปที่ข้อดี ของการที่จะต้องคว้าเหรียญทอง คือการปลุกกระแส เพราะแน่นอนว่าหากได้เหรียญทอง มันก็จะเป็นการปลุกกระแสให้คนติดตามฟุตบอล สนใจในกีฬาชนิดนี้มากขึ้น โดยเฉพาะแฟนบอลขาจร พิสูจน์ได้จาก ฟุตบอล AFF Suzuki Cup ที่ผ่านมา ทีมีแฟนบอลเปิดทีวี ชมเกมของทีมชาติไทย สูงที่สุดตลอดกาลของปี 2022 เลยก็ว่าได้

และแน่นอนว่าหากเราเข้าชิงซีเกมส์ แล้วได้เหรียญทอง มันก็จะเป็นการปลุกกระแสได้เป็นอย่างดี ที่ไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่ยังรวมถึงภูมิภาคอาเซียน และเป็นการตอกย้ำ ความเป็นเบอร์หนึ่งของอาเซียน

แต่ข้อเสีย ที่ต้องมอง คือ ฟุตบอลรายการนี้ มันไม่สามารถต่อยอดอะไรได้เลย ได้ซีเกมส์ แล้วไปไหนต่อ ต่อยอดอย่างไร โฟกัสที่ รายการสำคัญที่ได้รับการรับรองดีกว่าไหม อย่าง ศึกชิงแชมป์เอเชีย รอบสุดท้าย ที่อุซเบกิสถาน

และคำถามข้อต่อมาคือ รายการนี้มันได้มาตรฐานขนาดไหน กรรมการเป็นใคร กฏของการแข่งขัน มาตรฐานของสนามแข่ง และถ้าบาดเจ็บ และยิ่งการแข่งขันที่ต้องเตะทุกสองวัน ที่ถือเป็นการแหวกกฏ การฟื้นฟูร่างกาย ตามบทบัญญัติ ที่ฟีฟ่า เคยออกกฏไว้ ว่านักกีฬาฟุตบอลจำเป็นต้องใช้เวลาอย่างน้อย 72 ชั่วโมงเพือฟื้นฟูร่างกาย และช่วยหลีกเลี่ยงอาการบาดเจ็บ

และที่สำคัญคือ มาตรการการป้องกันโควิดของเวียดนามล่ะ ข้อมูล ณ วันที่ 10 เมษายน มีผู้ติดเชื้อใหม่ทั่วประเทศ ที่ 28,307 คน และเมือปลายเดือนที่ผ่านมา เคยพุ่งไปแตะหลักแสนต่อวัน

ถ้าหากนักเตะติดโควิดที่เวียดนามล่ะ มันจะส่งผลมากน้อยแค่ไหน ต่อรายการสำคัญอย่างชิงแชมป์เอเชียจะเป็นอย่างไร การเตรียมทีมหลังจากนั้นล่ะ บอกว่าป้องกันดีแล้ว แต่อนาคตมันคือสิ่งที่คาดเดาไม่ได้เลย

หมวกใบที่ 2 – สมาคมฯ

สมาคมฯ เปรียบเสมือนตัวกลางอยู่ภายใต้การกำกับ ของการกีฬาแห่งประเทศไทย และ คณะกรรมการโอลิมปิก ตอนนี้สมาคมฯก็เหมือนอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้า คายไม่ออก

ข้างบน อย่าง การกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ คณะกรรมการโอลิมปิก ก็ต้องตั้งเป้าให้ได้เหรียญทอง ถ้าไม่ได้ ตกรอบแรก ที่แม้จะสู้สุดใจ ชนะใจแฟนแต่เงินสนับสนุนก็หดหาย ลดเงินสนับสนุน เพราะไม่ยอมสร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติ

ในขณะเดียวกัน สโมสรสมาชิก ที่อยู่ใต้การกำกับของสมาคมฯ เองก็ไม่เห็นด้วย เพราะ นักกีฬาที่สมาคมฯ เอาไปก็เป็นของสโมสร ถ้าเจ็บแล้วใครจะรับผิดชอบ ถ้าติดโควิด ถ้าเอาตัวหลักไป สโมสรจะใช้ใครในช่วงที่มีโปรแกรมการแข่งขันในช่วงเวลาสำคัญ

จะปรับโปรแกรม ก็ต้องเคลียร์กับสปอนเซอร์ เคลียร์กับเจ้าของลิขสิทธิ์ ขยับทางไหนก็โดนด่า จะแก้ก็โดนสโมสร ด่า จะไม่แก้ก็โดนข้างบนด่า ลองคิดภาพ ถ้าสมาคมฯ ประกาศตัดจบลีก กกท. โอลิมปิก อาจจะยิ้ม แต่สโมสรก็คงไม่พอใจ ว่าทำตัวไม่เป็นมืออาชีพ แต่หากสมาคมฯ ไม่ตัดจบ ก็กลายเป็นว่าไม่มีนักกีฬาที่ดีที่สุดมารับใช้ชาติ

หมวกใบที่ 3 – สโมสรฟุตบอล

อย่าลืมว่านักฟุตบอลคือสมบัติของสโมสร สโมสรเหล่านี้คือคนจ่ายเงินเดือนให้กับนักกีฬา และตามกฏระเบียบ ระบุไว้ว่า หากไม่ใช่ช่วงฟีฟ่า เดย์ สโมสรมีสิทธิ์ ที่จะไม่ส่งนักกีฬามารับใช้ชาติ

ในมุมมองของสโมสร แน่นอน พวกเขาเองก็กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ไม่ปล่อยนักเตะให้ทีมชาติ ก็โดนครหาว่าไม่รักชาติ เห็นแก่ตัวไม่เสียสละ

แต่อีกมุม สโมสรก็ต้องมองว่า พวกเขาเองก็มีโปรแกรม และโปรแกรมเหล่านี้สามารถตัดสินอนาคตการทำทีมฤดูกาลหน้า ไม่วาจะเป็นการทำอันดับ เพื่อให้ได้เงินรางวัลเพิ่มเติม หรือ ในบอลถ้วยที่ทีมแชมป์จะได้เงินถึง 5 ล้าน หรือ รองแชมป์อย่างน้อยก็ได้ 1 ล้าน บางสโมสรอาจจะไม่เดือดร้อนเรืองเงิน แต่บางสโมสร เงิน 1 ล้าน อาจจะต่อชีวิตสโมสรได้หลายเดือน

อย่างแชมป์ลีก คัพ หรือ เอฟเอ คัพ ก็ได้เงินตั้ง 5 ล้านบาท หากได้เป็นแชมป์ หรือเป็นรองแชมป์ก็ได้ 1 ล้าน หรืออย่างในลีก มันก็มีเงินรางวัลไปจนถึง อันดับ 8 ที่ไลตั้งแต่แชมป์สิบล้าน ไปจนถึงอันดับ 8 ทีได้เงิน 400,000 บาท

ยิ่งสภาวะโควิด และเศรษฐกิจแบบนี้ เงินครึ่งล้านก็สามารถต่อชีวิตสโมสร อาจจะเคลียร์หนี้ที่ค้างกับนักเตะได้เลยก็ว่าได้

ลองคิดภาพ ถ้าปรับเวลา เปลียนวันที่แข่งขัน ถ้าหากสโมสรนั้นเตรียมงานล่วงหน้าวางแผนเดินทาง หรือจองโรงแรม ที่พักเพื่อเตรียมพร้อมในสถานะทีมเยือนไว้แล้ว และต้องเลือนไป เท่ากับว่า พวกเขาต้องเสียเงินไปฟรีๆ อย่างนั้นหรือ และถ้าขยับไป เตะหลังซีเกมส์ล่ะ นักฟุตบอลบางคนเองก็อาจหมดสัญญากับสโมสรแล้ว กลายเป็นว่าสโมสรต้องแบกค่าใช้จ่ายอีก

และนี่อาจจะไม่ใช่ครั้งแรกที่มันเป็นปัญหา จะบอกว่าไม่เตรียมพร้อมสำหรับซีเกมส์ ก็ไมได้ เพราะอย่างทีทราบ โปรแกรมลีกในประเทศนั้นถูกกางออกมาก่อนที่โปรแกรมซีเกมส์ จะออกมาเสียอีก และเพิ่งมีการจับสลากวางโปรแกรม วางสนามแข่ง เมื่อวันที่ 6 เมษายนนี้

ในมุมมองนี้ มันยากที่จะมองหาคนผิด เพียงแต่ตอนนี้เป้าหมายมันไม่ตรงกันเท่านั้น สวมหมวกคนละใบ แต่เราลองมาชั่งน้ำหนักกันว่า สำหรับซีเกมส์แล้ว เราควรจริงจัง เอาเหรียญทอง หรือมองว่าเป็นแค่ทัวร์นาเมนต์ อีกทัวร์นาเมนต์หนึ่งเท่านั้น

buaksib sport newsbuaksib sport news