วันที่ 23 พฤษภาคม 2562 ณ เวลา 10.30 น. ณ ห้องประชุมชั้น 2 ที่ทำการสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ประชุมร่วมกับ นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา และวิศวกรรมเครื่องกลจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเตรียมความพร้อมในการสร้างห้องปฏิบัติการฝึกซ้อมฟุตบอลขั้นสูง ภายในศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี
การประชุมในครั้งนี้นำโดย พล.ต.อ. ดร. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมฯ พร้อมด้วยคุณ พาทิศ ศุภะพงษ์ รองเลขาธิการฝ่ายต่างประเทศ , คุณนันทศักดิ์ ศุภะพงษ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิค วิเคราะห์การแข่งขัน สมาคมฯ, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัยพัฒน์ หล่อศิริรัตน์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, อ. ดร. สุรัฐ ขวัญเมือง อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดย อ. ดร. สุรัฐ ขวัญเมือง กล่าวว่า “ในขั้นนี้ยังถือเป็นขั้นแรก ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาว่าห้องฝึกซ้อมควรจะมีอะไรบ้าง ซึ่งก็จะเริ่มจากการสอบถามความต้องการจากผู้ฝึกสอนของทีมชาติไทย
ทั้งในเรื่องของขนาดห้อง รวมถึง สิ่งที่ต้องการ”
“นอกจากนี้ เราก็จะมีการศึกษาดูงานจากศูนย์ฝึกต่างๆ เพื่อให้เราได้มองเห็นถึงรายละเอียดต่างๆ ที่มากกว่าแค่วีดีโอคลิป หลังจากนั้นก็จะพยายามลงรายละเอียดมากขึ้น”
“เมื่อเราศึกษาทั้งหมด เราจะเอาข้อมูลมาประกอบกัน และประยุกต์ให้เป็นอุปกรณ์ช่วยเหลือสำหรับการฝึกซ้อมฟุตบอลให้ดีที่สุด และมีความหลากหลายมากที่สุด”
“ณ วันนี้ ระบบจักรกล ถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันมากมาย มีหลายสิ่งที่มนุษย์ยังทำไม่ได้ แต่ระบบจักรกลทำได้ สามารถทำซ้ำๆ และจะช่วยให้นักฟุตบอลที่ฝึกกับเครื่องจักรกลดังกล่าว พัฒนาขึ้นจากการได้ฝึกในรูปแบบซ้ำๆ ทำได้ถี่มากขึ้น แม่นยำมากขึ้น และจะช่วยให้นักกีฬาพัฒนาขึ้น”
“สำหรับโปรเจคต์นี้เราก็อยากจะให้เสร็จภายใน 1 ปี ซึ่งเราจะแบ่งเป็นเวลาศึกษา 3-4 เดือน, เวลาของการออกแบบ 3-4 เดือน และ เวลาการสร้างอีก 3-4 เดือน และก็นำมาทดสอบโดยจะตั้งที่ ศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติแห่งใหม่ ที่มวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี และเครื่องบางส่วนก็จะสามารถถอดเพื่อนำไปใช้งานที่ต่างๆ ได้”
สำหรับสมาคมฯ มีนโยบายใช้ระบบปฏิบัติการในการตั้งค่าโปรแกรมการฝึกซ้อมฟุตบอล เพื่อพัฒนาศักยภาพนักกีฬาฟุตบอลตามวัตถุประสงค์ของผู้ฝึกสอน หรือแนวทางการฝึกฟุตบอลที่สร้างขึ้นสำหรับแผนการเล่นในรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อนำมาใช้สำหรับพัฒนาศักยภาพนักฟุตบอลเป็นรายบุคคลเป็นหลัก
โดยมีแนวคิดในการเสริมสร้างทักษะของนักกีฬาฟุตบอลขั้นสูงด้านต่างๆ อาทิ การฝึกรับส่งบอลในรูปแบบที่แตกต่างกัน, การเคลื่อนไหวร่างกายด้วยความรวดเร็ว, การฝึกยิงประตูที่สามารถตั้งค่าความเร็ว และวิถีการเคลื่อนที่ของลูกบอล เป็นต้น
ทั้งนี้ตัวแทนนักวิจัยและนักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะนำนโยบายดังกล่าวของสมาคมฯ ไปศึกษาแนวทางการสร้างห้องปฏิบัติการฝึกซ้อมฟุตบอลขั้นสูง หากผลการศึกษาค้นคว้าความเป็นไปได้ด้านต่างๆ ออกมาในทิศทางที่ดี และจัดทำเป็นรายงานออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สมาคมฯ จะดำเนินการสร้างห้องปฏิบัติการดังกล่าว โดยจะจัดสร้างขึ้นที่ศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติแห่งใหม่ ภายในศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ การกีฬาแห่งประเทศไทย ณ อ. มวกเหล็ก จังหวัดสระบุรีเป็นที่แรก และจะนำไปประยุกต์ใช้กับศูนย์ฝึกกีฬาฟุตบอลอื่นๆ ต่อไป
ขอขอบคุณ : Fair