ข่าวฟุตบอลศอกพิฆาต DIRTY TACTIC หรือกฎฟีฟ่า ?
buaksib sport news
ซามูเอล โรซ่า
– ศอกพิฆาต DIRTY TACTIC หรือกฎฟีฟ่า ?

จบลงไปแล้วสำหรับไทยลีกสัปดาห์ที่ 11 แต่ยังมีดราม่าตามมาไม่จบสิ้น เมื่อมีเหตุการณ์ใบแดงกรณีศอกพิฆาต (หรือป่าว) เกิดขึ้นใน 2 คู่ คู่แรกคือ พีที ประจวบ เอฟซี พบ ขอนแก่น ยูไนเต็ด ผู้ตัดสินมองว่า ซามูเอล โรซ่า ไปชักศอกใส่ ปาณเดชา เงินประเสริฐ ในนาทีที่ 4 ของการแข่งขัน ทำให้ผู้ตัดสินชักใบแดงโดยตรงให้ ซามูเอล โรซ่า

คู่ที่สองคือ นครราชสีมา มาสด้า เอฟซี พบ ราชบุรี มิตรผล เอฟซี ผู้ตัดสินมองว่า ไฮน์ เพียว วิน แบ็กขวาราชบุรีไปศอกใส่ ไทรอน กุสตาโว ในนาทีที่ 50 ของการแข่งขัน ทำให้ ไฮน์ เพียว วิน ได้รับใบเหลืองที่สอง เป็นใบแดงออกจากสนามไปด้วยเช่นกัน

แต่เหตุการณ์ในสนามยังไม่จบเพียงเท่านี้ ยังลามมานอกสนามต่อเนื่อง เมื่อมีคนเห็นแย้งกันเกิดขึ้น กับเหตุการณ์ต่างๆ เช่น “โค้ชธง” ธงชัย สุขโกกี ได้โพสต์ถึงใบแดงของ ซามูเอล โรซ่า มองว่า ต่อจากนี้ไปเกรงว่าจะมี DIRTY TACTIC เกิดขึ้น อาจทำให้ฟุตบอลไทยหมดความสนุกลงไป

ทันใดนั้นเอง ปาณเดชา เงินประเสริฐ ก็ได้แชร์โพสต์ดังกล่าวไป โดยชี้แจงว่า
“ไม่เคยมีความคิดจะเอาเปรียบด้วยวิธีแบบนี้เลยครับ ที่ผมลงไปนอนเพราะเจ็บจมูกและเลือดออก แต่ความคิดผมเขาไม่มีความตั้งใจจะศอกหรอกครับ ผมไม่รู้จะต้อง Acting ไปทำไมด้วย”

ยิ่งทำให้แฟนคลับทั้ง 2 ฝ่าย ออกมาตอบโต้กันมากขึ้น ก่อนที่ล่าสุด “โค้ชธง” ธงชัย สุขโกกี จะได้มีการทำความเข้าใจกับ ปาณเดชา เงินประเสริฐ ไปแล้ว ว่าไม่ได้มีความตั้งใจจะว่าปาณเดชา แต่เพราะเป็นห่วงในอนาคตของฟุตบอลไทย

ในส่วนของอีกคู่ หลังจบเกม ก็เดือดไม่แพ้กัน เมื่อ “เสี่ยฟลุ๊ค” ธนวัชร์ นิติกาญจนา ประธานสโมสร ราชบุรี เอฟซี ได้ออกมาโพสต์หลังจบเกมที่ นครราชสีมา มาสด้า เอฟซี เสมอกับ ราชบุรี มิตรผล เอฟซี ด้วยสกอร์ 1-1 ว่า

“ไปเยือนคราวนี้โดน 1 ใบแดง 1 จุดโทษ แต่เค้าก็ยังชนะเราไม่ได้ คราวหน้าแนะนำเตรียมใบแดงไว้ 2 ใบ แล้วก็จุดโทษไม่อั้น”

ทำให้มีแฟนคลับของทั้ง 2 ฝ่าย ตอบโต้ในคอมเมนต์กันอย่างดุเดือดเช่นกัน ซึ่งเกี่ยวกับศอกนี้เอง กฎของฟีฟ่า ได้ระบุไว้ว่า

การปะทะกันแล้วศอกโดนศีรษะ เป็นการเล่นฟาวล์รุนแรง (Serious Foul Play) ต้องโทษไล่ออกจากสนามมานานตั้งแต่ปี 2006 เพราะจากงานวิจัยในปี 2004 ของแอนเดอร์สันและคณะ พบว่ามันเป็นสาเหตุอันดับหนึ่ง 41% ของการบาดเจ็บที่ศีรษะในลีกฟุตบอลระดับสูง ซึ่งเป็นอาการบาดเจ็บที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพของนักฟุตบอล

และหลังจากที่ปรับกติกาไปในปี 2016 มีการนำเสนอผลการเก็บข้อมูลในบุนเดสลีกาต่อเนื่องกว่า 13 ปี พบว่าการบาดเจ็บที่ศีรษะลดลงไปเฉลี่ยถึง 29% (หัวแตกน้อยลง 42%, สมองกระเทือนน้อยลง 29%, กระดูกหน้าแตกหักน้อยลง 16%) นับว่าการเปลี่ยนกติกาเป็นแบบนี้ ได้ช่วยเซฟสมองนักฟุตบอลให้ปลอดภัยขึ้นกว่าเดิมอย่างมีนัยสำคัญ และเมื่อสมองไม่ได้รับความเสียหายจากการกระทบกระเทือน (Concussion) ก็จะมีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บในส่วนขาน้อยลงได้อีกถึง 2.5-5 เท่า

สำหรับเคสดังกล่าวที่เกิดขึ้นในประเทศไทยบ่อยครั้ง คงต้องแล้วแต่ดุลยพินิจและความเหมาะสมของเหตุการณ์ อยู่ที่ใครจะมองอย่างไร คงไม่สามารถไปชี้นำได้ เพราะแต่ละจังหวะก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป จะนำไปเปรียบเทียบกับฟุตบอลต่างประเทศทุกกรณีคงไม่ได้ ที่สำคัญคือ ควรมีบรรทัดฐานที่เท่ากัน ไม่อย่างนั้น จะเกิดข้อครหาได้ไม่จบสิ้น

buaksib sport newsbuaksib sport news