ยุทธนา หยิมการุณ หวังว่าผู้บริหารสมาคมฯ ชุดใหม่ จะสานต่อโครงการก่อสร้างศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติครบวงจร
ยุทธนา หยิมการุณ ฝากฝัง ผู้บริหารสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ชุดใหม่ จะสายต่อโครงการก่อสร้าง ศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติครบวงจร
สำหรับ สมาคมฯ เพิ่งเปิดตัวโครงการก่อสร้างศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติ ที่จังหวัดสมุทรปราการ ในช่วงก่อนหน้านี้
“ผมขอสรุปประเด็นเอาแบบนี้ นะครับ “ประเทศไทย” มีศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติชั่วคราว ใช้งานได้จริงเพียงแห่งเดียวเท่านั้น คือ “ศูนย์พัฒนาศักยภาพกีฬาฟุตบอล มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี” ซึ่งถือว่า มีจำนวยน้อยมากหากต้องการยกระดับ และพัฒนาเยาวชนของเราให้ไปสู้เป้าหมายความเป็นเลิศทางด้านกีฬาฟุตบอล ทั้งในระดับอาเซียน ระดับเอเชีย หรือระดับโลก” บิ๊กหยิม โพสต์
จึงไม่น่าแปลกใจที่ เราเห็นภาพการแข่งขันฟุตบอลที่ไร ไปไม่ถึงฝั่งฝัน เนื่องจากปัญหาเดิม ที่เห็นบ่อยๆ คือสนามซ้อม แคมป์เก็บตัว ที่พักไม่เพียงพอต่อความความต้องการของทีมชาติไทยที่มีหลายชุด ทั้ง ทีมชายและหญิง ในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ทัวร์นาเมนต์การแข่งขันในระดับนานาชาติ
เช่นเดียวกับการสร้างเยาวชน อนาคตของทีมชาติไทย ฝีเท้าดีๆ ในรุ่นอายุต่างๆ มีปัญหาไม่แตกต่างกันมากนัก
ศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติ จึงถือว่า มีความสำคัญลำดับต้นๆ ในการเป็นแหล่งผลิตและพัฒนาบุคลากรฟุตบอล การวางรากฐานของสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อนำไปสู่การพัฒนาฟุตบอลไทยในทุกๆ มิติ และกระจายสู่ทุกภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย
แม้ สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ในยุคสมัยของ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง เป็นนายกสมาคมฯ จะมีโครงการสร้างศูนย์ฝึกกีฬาฟุตบอลแห่งชาติครบวงจร (ศูนย์ฝึก) โดยใช้เงินงบประมาณจากการสนับสนุนของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) แต่ก็ต้องรอถึง 8 ปี กว่าจะสามารถเริ่มต้นได้ เนื่องจากติดปัญหาเรื่องที่ดินสำหรับใช้ในการก่อสร้าง ที่กว่าจะได้รับการสนับสนุนก็หมดวาระการทำงานพอดี
ศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติ มีความสำคัญอย่างไร วัตถุประสงค์หลักๆ คือ
1.เพื่อให้มีสถานที่สำหรับใช้ในการพัฒนากีฬาฟุตบอลของชาติ
2.จัดกิจกรรมส่งเสริม และพัฒนาและสนับสนุนงานด้านต่างๆ
3.จัดการแข่งขันและการเก็บตัวฝึกซ้อมของนักกีฬาฟุตบอลทีมชาติไทย
4.สนับสนุนการฝึกซ้อมของนักกีฬาฟุตบอลทีมชาติไทยได้มาตรฐานสากล
5.นักกีฬาฟุตบอลทีมชาติไทยจะได้ฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
แน่นอนสิ่งเหล่านั้นจะเกิดขึ้นได้ ไทยจะต้องมีศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติครบวงจรที่มีองค์ประกอบครบถ้วน เหมาะสมแก่การพัฒนากีฬาฟุตบอลทุกระดับ มีสนามฟุตบอลที่มีขนาดได้มาตรฐานและจำนวนมากพอเป็นของตนเอง เพื่อการฝึกซ้อมและการแข่งขันกีฬาฟุตบอลสำหรับเยาวชน
มีสนามฟุตบอลที่มีขนาดมาตรฐานและคุณภาพเหมาะสมสำหรับให้นักกีฬาฟุตบอลทีมชาติไทยได้ใช้ในการเก็บตัวฝึกซ้อมต่อเนื่องสม่ำเสมอและแข่งขัน, มีสถานที่สำหรับใช้ในการอบรมผู้ฝึกสอน ผู้ตัดสิน และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับกีฬาฟุตบอล,มีสถานที่ให้นักกีฬาสามารถใช้ฝึกซ้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าร่วมแข่งขัน
สำหรั งบประมาณในการก่อสร้างศูนย์ฝึกฟุตบอลนั้น จะแยกออกเป็นสองส่วนคือ งบสนับสนุนจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ตามโครงการ FIFA Forward 3.0 งบประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิเช่น ศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติ หรือสาธารณูปโภคด้านฟุตบอลต่างๆ ไม่ว่าจะบนที่ดินของรัฐหรือเอกชน โดยมีระยะเวลาการครอบครองตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป
ส่วนที่สองคือเงินสนับสนุนจากสปอนเซอร์ของสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ซึ่งอาจจะมีเข้ามาเพิ่มเติม เทคโนโลยี หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่จำเป็นต่อการพัฒนานักกีฬาฟุตบอลให้เข้ากับยุคปัจจุบัน
การได้มาซึ่ง งบประมาณจากฟีฟ่านั้น แม้ชาติสมาชิกจะได้โอกาสรับงบสนับสนุนจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ตามรอบวงที่กำหนด แต่ต้องผ่านการพิจารณาหลักเกณฑ์ อาทิเช่น 1.ชาติสมาชิก จะต้องมีสเตเดียมแข่งขันรองรับเกมระดับนานาชาติ
2.ชาติสมาชิก จะต้องมีที่ทำการเป็นของตนเองหรือ เป็นหลักแหล่ง ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว และล่าสุดเราได้งบสนับสนุนจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ตามโครงการ FIFA Forward 3.0 งบประมาณราว 100 ล้านบาท ให้ก่อสร้างศูนย์ฝึก ซึ่งงบประมาณจากฟีฟ่าจะต้องนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ของฟีฟ่าเท่านั้น จะนำไปใช้อย่างอื่นไม่ได้ เมื่อจบโครงการแล้วในอนาคตจะมีโครงการต่างๆ ต่อเนื่องเข้ามาสนับสนุนอีก
จากความสำเร็จของชาติมหาอำนาจในโลกของฟุตบอล ไม่อาจปฎิเสธได้เลยว่าศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติ คือ กุญแจสำคัญสู้ความสำเร็จ แม้จะต้องแลกกับค่าใช้จ่ายในการดูแล ประมาณ ไม่เกิน 500,000 บาท/เดือน
แต่เชื่อมั่นว่าเมื่อมีการวางรากฐานที่ดี มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทั้งระบบไปพร้อมๆ กัน จะสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับวงการฟุตบอลอย่างยั่งยืนและนำไปสู่ความสำเร็จในอนาคต