ข่าวฟุตบอล ไทยลีกฟุตบอลคือธุรกิจ!! เบนจามิน ตัน อธิบายบริหารการเงินสโมสรอย่างไรให้ยั่งยืน
buaksib sport news
เบนจามิน ตัน
เบนจามิน ตัน
เบนจามิน ตัน

มร. เบนจามิน ตัน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายควบคุมการแข่งขัน บริษัท ไทยลีก จำกัด และผู้อำนวยการคลับ ไลเซนซิง สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ จะมาอธิบายถึงความสำคัญบริหารการเงินสโมสรอย่างไรให้ยั่งยืน

เมื่อเร็วๆ นี้ ทางสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ได้ประกาศปรับและตัดแต้ม 6 สโมสร เนื่องจากค้างค่าเหนื่อยนักเตะ พร้อมกับขีดเส้นใต้ให้จ่ายเงินค้างชำระภายในเวลาที่กำหนด

ซึ่ง 6 สโมสรที่ว่า ได้แก่ อัล อราบี สปอร์ตส์ คลับ และ อัล คาไรติยัต 2 สโมสรของกาตาร์, ซามาเล็ค สปอร์ติ้ง คลับ ของอียิปต์, อัล จาซีร่า เอสซี ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, เมอร์ซิน อิดมาน ยูรดู สปอร์ คูลูบู ของตุรกี และ เอฟซี คูบาน ของรัสเซีย

ในเมื่อปัจจุบันฟุตบอลคือธุรกิจ และสโมสรก็เหมือนเป็นบริษัทๆ หนึ่ง จึงมีทั้งกำไร และขาดทุน ดังนั้นมันคือโจทย์สำคัญสำหรับทุกสโมสร ไม่ว่าจะเป็นไทยหรือต่างประเทศ ในการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน

นี่จึงเป็นสิ่งที่สหพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (เอเอฟซี) ได้สอดแทรกเข้าไปเป็นเงื่อนไขของการดำเนินกิจการสโมสรฟุตบอลอาชีพ ว่าจะต้องผ่านการตรวจสอบด้านการเงินทุกปี เพื่อทำให้แน่ใจว่า ทุกทีมมีสุขภาพทางการเงินที่แข็งแรงพอที่จะเข้าร่วมแข่งขัน

การเงินแข็งแรง = สโมสรแข็งแรง

พื้นฐานในการเงิน ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการต่อยอดด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ สาธารณูปโภค, การพัฒนาเยาวชน, ค่าใช้จ่ายของนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ ฯลฯ เรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งทุกอย่าง

ซึ่ง มร. เบนจามิน ตัน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายควบคุมการแข่งขัน บริษัท ไทยลีก จำกัด และผู้อำนวยการคลับ ไลเซนซิง สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ จะมาอธิบายถึงความสำคัญดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังได้บอกเล่าถึงบทบาทของไทยลีกในการขับเคลื่อนให้สโมสรต่างๆ เห็นความสำคัญของการใช้เงินและวิธีการหาเงิน นอกเหนือจากเงินสนับสนุนที่ไทยลีกมอบให้

เพราะการที่ทุกทีมสามารถหาเงินได้เองนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่ยั่งยืนกว่า

“หลังจากที่เราได้จัดการประชุมร่วมกับสโมสรในไทยลีก รวมถึงการทำเวิร์คช็อปด้านการเงินกับพวกเขา มันเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะผมรู้สึกว่ามันเป็นจุดที่ฟุตบอลไทยต้องพัฒนา” เบนจามิน ตัน กล่าว

“ที่ผ่านมา เราได้รับจดหมายและเคสจากฟีฟ่ากับเอเอฟซีหลายฉบับ แม้แต่เอเย่นต์และตัวนักเตะเอง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องแก้ปัญหาดังกล่าว”

“ในไทยลีก เมื่อเราเปรียบเทียบจากปี 2015 และ 2016 ค่าใช้จ่ายของสโมสรมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์อยู่ที่เงินเดือนของนักกีฬาและผู้ฝึกสอน เช่นเดียวกับค่าตัวและค่าชดเชย นี่แสดงให้เห็นว่าสโมสรในไทยใช้จ่ายมากเกินไปกับค่าชดเชยของนักเตะและโค้ชที่ไม่จำเป็น”

“ในเมืองไทย เรารู้ว่าหลายทีมพยายามหลีกเลี่ยงการใช้หนี้ ด้วยการใช้สโมสรตัวแทน ยกตัวอย่างเช่น สโมสร เอ มีหนี้และขายสโมสรให้กับเจ้าของใหม่ จากนั้นก็มีการเปลี่ยนชื่อเป็นสโมสร บี และไม่จ่ายหนี้ ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องถูกต้อง เพราะเจ้าของใหม่ก็ควรรับผิดชอบในส่วนของภาระค้างจ่ายและหนี้ด้วยเช่นกัน”

ตัวอย่างจากเจลีก

เชื่อหรือไม่ว่า กว่าที่เจลีกจะแข็งแรงและมั่นคง เป็นลีกแถวหน้าของเอเชียได้อย่างทุกวันนี้ พวกเขาก็เคยผ่านกระแสนิยมตกต่ำเช่นกัน

โดยหลังจากที่เริ่มก่อตั้งเจลีกได้เพียง 3 ปี ค่าเฉลี่ยคนดูก็เริ่มลดลงถึงเกือบครึ่งในระยะอันรวดเร็ว ทำให้เกิดการกระตุ้นให้สโมสรได้การโปรโมตอย่างหนักทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับฟุตบอล และไม่เกี่ยวข้องกับฟุตบอล

ไม่ว่าจะเป็นการเชิญชวนให้คนมาออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ, จัดกิจกรรมการกุศล, สรรหาสปอนเซอร์ท้องถิ่น, สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับแฟนบอลท้องถิ่นในระดับรากหญ้า ให้เกิดการยึดโยงกับเมืองหรือจังหวัด มากกว่าที่จะพึ่งจากสปอนเซอร์เจ้าใหญ่เพียงเจ้าเดียวเหมือนเช่นเมื่อก่อน

เบนจามิน ตัน กล่าวว่า “แน่นอนว่ามีบางสโมสรที่ดำเนินการภายใต้บริษัทยักษ์ใหญ่ แต่ตัวสโมสรเองก็ทำงานอย่างหนักในการหาสปอนเซอร์รายอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ไม่ใช่แค่สปอนเซอร์เจ้าใหญ่เจ้าเดียว พวกเขาตื่นตัวอย่างมากในการสร้างความสัมพันธ์กับกิจการห้างร้านเล็กๆ รวมถึงแฟนบอลในชุมชนและจังหวัด”

“สโมสรมีกลยุทธ์ทางการตลาดที่หลากหลายและเหมาะสมกับสปอนเซอร์ของพวกเขาไม่ว่าจะรายเล็กหรือรายใหญ่ จนสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนบนเจลีกโมเดล”

“ในเจลีกนั้น พวกเขามีสถานะการเงินที่แข็งแรงตามเกณฑ์ของคลับ ไลเซนซิง ซึ่งคุณจะเห็นได้ตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้เจลีกยังตั้งกฎเกณฑ์ไว้ว่าแต่ละสโมสรจะต้องขาดทุนไม่เกิน 3 ปีติดต่อกัน ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้ใบอนุญาต” 

“ซึ่งในปี 2015 ไม่มีสโมสรไหนในญี่ปุ่นที่ขาดทุนสุทธิในรอบปีเลย นั่นหมายความว่าเกือบทุกสโมสรมีสถานะทางการเงินที่เป็นบวก และนั่นคือสิ่งที่สโมสรในเจลีกพัฒนาขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา”

“ผมคิดว่าสโมสรในไทยลีกสามารถเริ่มหาวิธีในการสร้างความผูกพันธ์กับสปอนเซอร์ได้เช่นกัน เพื่อเพิ่มช่องทางรายรับ นอกเหนือจากสปอนเซอร์หลัก, เงินจากเจ้าของ และจากภาครัฐ”

“ดังนั้นวัตถุประสงค์ของเรา อย่างแรกก็คือการให้แต่ละทีมมีเสถียรภาพทางการเงิน เพื่อสามารถอยู่รอดได้อย่างยั่งยืนในลีก อย่างที่สองก็คือ ให้สโมสรเริ่มคิดถึงการเพิ่มรายได้ผ่านสปอนเซอร์หรือจำนวนผู้ชม เพื่อที่ว่าพวกเขาจะสามารถการันตีตัวเลขที่เป็นบวกแก่เอเอฟซี”

การลงทุนอย่างยั่งยืน

จากการที่ โตโยต้า ไทยลีก สามารถส่งนักเตะอาเซียนลงสนามได้มากขึ้นในฤดูกาล 2019 ก็เชื่อว่าจะทำให้ลีกสูงสุดของไทย ได้รับความสนใจจากต่างชาติมากขึ้น

เหมือนอย่างที่ อ่อง ธู ฟีเวอร์ เกิดขึ้นกับโปลิศ เทโร ในฤดูกาลนี้ ขณะที่ อิซวาน มะห์บุด มือกาวชาวสิงคโปร์ ก็ได้พา หนองบัว พิชญ เจาะตลาดแดนลอดช่อง ด้วยการไปเตะนัดกระชับมิตรกับ เฮากัง ยูไนเต็ด ในช่วงเบรคเลกแรก

โดยกระแสความนิยมจากต่างแดนที่เกิดขึ้น ก็เหมือนกับการที่เจลีกได้ตัว ชนาธิป สรงกระสินธ์, ธีรศิลป์ แดงดา และ ธีราทร บุญมาทัน รวมถึงสตาร์ดังอย่าง อันเดรส อิเนียสต้า และ เฟร์นานโด ตอร์เรส ไปร่วมทีม

อย่างไรก็ตามกว่าที่สโมสรในญี่ปุ่นจะคว้าดาวดังของแต่ละประเทศมาเสริมทัพ แม้ว่าจะเป็นชาติพันธมิตรของเจลีกที่สามารถเซ็นได้ไม่จำกัดโควต้า อย่าง ไทย, เวียดนาม, อินโดนีเซีย, เมียนมา, สิงคโปร์, มาเลเซีย, กัมพูชา, กาตาร์ หรือแม้แต่อิหร่านเอง พวกเขาก็ต้องทำวิจัย (research) ทั้งในสนามและนอกสนาม ว่าแต่ละคนจะสามารถสร้างแรงกระเพื่อม (impact) ได้อย่างไร

ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ การที่นักท่องเที่ยวไปเยือนซัปโปโร, ฮิโรชิม่า และโกเบเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับจังหวัดซากะอันเป็นที่ตั้งของสโมสร ซากัน โตสุ ต้นสังกัดใหม่ของตอร์เรส ที่อยู่ระหว่างฟุกุโอกะกับนางาซากิ ก็ได้รับความสนใจมากกว่าเดิมด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็สามารถบริหารค่าเหนื่อยของนักเตะให้มีความสมดุล ระหว่างแข้งต่างชาติกับท้องถิ่น ไม่ให้ค่าใช้จ่ายเฟ้อจนเกินไปนัก โดยเน้นไปที่การปั้นเด็กจากอะคาเดมีให้มีคุณภาพ และยิ่งเป็นเรื่องดีเข้าไปอีกหากเยาวชนจากละแวกจังหวัดใกล้เคียงถูกดันขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ เพราะนั่นสามารถทำให้สโมสรยึดโยงกับชุมชนได้อีกทางหนึ่ง

“ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องดีที่ไทยลีกเซ็นสัญญากับนักเตะต่างชาติฝีเท้าดี แต่ก็ต้องพึงระลึกไว้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เอเอฟซีได้เน้นความสำคัญเป็นอย่างมาก ดังนั้นหลายสโมสรจึงต้องระมัดระวัง ไม่ให้ใช้จ่ายเกินตัว”

“มันไม่ใช่เรื่องฉลาดสำหรับสโมสรในการใช้เงินกับค่าเหนื่อยและค่าตัวนักเตะมากเกินไป ซึ่งอย่างหลังมีผลกระทบต่อสถานะทางการเงิน แน่นอนว่าเราจำเป็นต้องมีส่วนผสมของนักเตะต่างชาติ แต่ผมคิดว่าส่วนหนึ่งของการลงทุนก็ควรไปอยู่ที่การพัฒนาเยาวชนและระบบแมวมองด้วยเช่นกัน”

“ถ้าเราดูตัวอย่างจากเยอรมนี, ญี่ปุ่น หรือแม้แต่สเปน ก็จะเห็นว่าพวกเขาได้ลงทุนไปกับนักเตะท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอะคาเดมี ดังนั้นผมคิดว่ามันเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับสโมสรในการพึ่งผลิตผลจากท้องถิ่น”

“ผมคิดว่าเยอรมนีคือแบบอย่างที่ดีมาก พวกเขาคืออันดับ 1 บนแรงกิ้งฟีฟ่า แต่ยังลงทุนกับการพัฒนาเยาวชนในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา”

“พวกเขาได้พิสูจน์ให้เห็นถึงการลงทุนกับเยาวชน ควบคู่ไปกับการให้การศึกษาแก่ผู้ฝึกสอนและด้านเทคนิค นั่นทำให้พวกเขาสามารถผลิตนักเตะระดับโลกขึ้นมาได้หลายคน”

“ผมหวังว่าสโมสรจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการด้านการเงินอย่างเหมาะสม ซึ่งทางสมาคมฯ และไทยลีกได้ทำงานอย่างหนักในการให้ความช่วยเหลือและหาวิธีจัดการด้านการเงิน เพื่อให้สโมสรถูกพัฒนาไปอย่างยั่งยืน”

ขอขอบคุณ : Thai League

buaksib sport newsbuaksib sport news