ข่าวฟุตบอล ไทยลีกพ่อหลวง กับ พระอัจฉริยภาพด้านกีฬาของ วงการกีฬาไทย
buaksib sport news
โพสต์รูปภาพ
พ่อหลวง
พ่อหลวง

พ่อหลวง กับ พระอัจฉริยภาพด้านกีฬาของ วงการกีฬาไทย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ทรงได้รับคำสดุดีชื่นชมจากนานาประเทศว่าทรงมีพระอัจฉริยภาพหลายด้าน ซึ่งด้านหนึ่งที่ได้รับการยอมรับคงหนีไม่พ้น “การกีฬา”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ โปรดการเล่นกีฬามาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อประทับอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โปรดกีฬาหลายประเภท เช่น สกีน้ำแข็ง, ยิงปืน, กอล์ฟเล็ก, การแข่งขันรถเล็ก, เทนนิส, แบดมินตัน, เครื่องร่อน

null

โดยทรงเล่นกีฬาเหล่านี้มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงศึกษาข้อมูลของกีฬาแต่ละประเภทอย่างละเอียด และทรงฝึกฝนจนปฏิบัติได้ดี นับเป็นแบบอย่างที่ดีของนักกีฬา น่าสังเกตว่ากีฬาที่โปรด มักเป็นกีฬาที่ไม่ได้ใช้แต่พละกำลังเพียงอย่างเดียว คือ ต้องอาศัย ความรู้รอบตัวและเทคนิคไหวพริบ ผนวกกับความรู้ ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในกีฬานั้นๆ ซึ่งทรงพอพระทัยกับการเผชิญความท้าทายในเกมกีฬาเป็นอย่างมาก เช่น เทนนิส, เรือใบ เป็นต้น

null

หนึ่งในกีฬาที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ คือ “เรือใบ” การทรงเรือใบของพระองค์ ไม่เพียงแค่ทรงเพื่อความเพลิดเพลินเท่านั้น หากแต่ยังทรงต่อเรือใบด้วยพระองค์เอง และนำไปร่วมในการแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 (ภายหลังจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นกีฬาซีเกมส์) จนทรงได้รับชัยชนะใบประเภท โอ.เค. เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2510 สร้างความปิติให้กับคนไทย ก่อนถือฤกษ์นำวันดังกล่าวมาเป็น “วันกีฬาแห่งชาติ” ถึงขนาดวงการกีฬาเรือใบระดับโลกให้การยอมรับ ต่อมาเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2513 ผู้บัญชาการทหารเรือ และคณะกรรมการอำนวยการกีฬากองทัพเรือได้ขออนุญาติเข้าเฝ้าฯ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องหมายความสามารถชั้น 1 กีฬาประเภทเรือใบ เป็นการแสดงความเทิดพระเกียรติในความสามารถ

null

อีกประเภทหนึ่ง คือกีฬา “แบดมินตัน” พระองค์โปรดให้มีการปรับแต่งหอประชุมภายในศาลาผกาภิรมย์ สวนจิตรลดา เปลี่ยนให้เป็นสนามแบดมินตันมาตรฐาน เพื่อทรงแบดมินตันในตอนเย็นวันศุกร์และเช้าวันอาทิตย์ ที่สำคัญยังทรงรับสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อปี พ.ศ. 2493 อีกด้วย นับแต่วันนั้น วงการแบดมินตันของไทยก็เหมือนเป็นการก้าวกระโดดครั้งสำคัญ มีความตระหนักถึงแก่นแท้กีฬาประเภทนี้ พัฒนาปลูกฝังต่อเนื่องตั้งแต่เยาวชนให้มีความรู้ความสามารถ สู่ระดับโลก

null

ไม่เพียงแบดมินตันเท่านั้น แต่พระองค์ทรงเห็นหัวใจสำคัญของการกีฬาทุกประเภท ว่านอกจากจะเสริมสร้างสุขอนามัยให้แข็งแรงแล้ว ยังส่งผลดีต่อการพัฒนาสมองให้เกิดความคิดที่กว้างไกล จึงมีพระราชประสงค์ให้พสกนิกรชาวไทยเกิดความสนใจในการกีฬายิ่งขึ้น

พระบรมราโชวาท ในวันเปิดการแข่งขันกรีฑานักเรียนประจำปี 2504 วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2504
“การกีฬานั้นนับเป็นอุปกรณ์การศึกษาที่สำคัญยิ่ง เพราะเป็นการกล่อมเกลาให้เด็กมีจิตใจอดทน กล้าหาญ รู้แพ้รู้ชนะ ปลูกฝังพลานามัยให้แข็งแรง เป็นปัจจัยส่งเสริมให้เด็กเป็นผู้มีสมรรถภาพ ทั้งในทางจิตใจและร่างกายเป็นผลสืบเนื่องไปถึงการเป็นพลเมืองของชาติอันเป็นยอดแห่งความปราถนา”

พระบรมราโชวาทในพิธีเปิดการแข่งขันกรีฑาประจำปี 2507 ณ กรีฑาสถานแห่งชาติ กรมพลศึกษา วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2507
“การกีฬานั้น นอกจากจะให้ความสนุกสนานและความสมบูรณ์แก่ร่างกายแล้ว ยังให้ผลดีทางจิตใจได้อย่างมากมาย นักกีฬาที่ได้รับการฝึกหัดอบรมอย่างดีแล้ว ย่อมมีใจแน่วแน่ตัดสินใจได้รวดเร็ว มีความเพียรพยายามไม่ท้อถอย และมีความหนักแน่น รู้จักแพ้ รู้จักชนะ รู้จักให้อภัย ผู้มีใจเป็นนักกีฬา จึงเป็นผู้ที่มีประโยชน์ต่อสังคมและน่าคบหาสมาคมด้วยอย่างยิ่ง”

พระราชดำรัสเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงพระราชปณิธานในเรื่องการส่งเสริมการกีฬาว่าเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาบุคคลและประเทศชาติ จึงทรงส่งเสริมกีฬาทุกประเภท พร้อมทั้งทรงกีฬามากมายหลายประเภท

null

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ทรงเน้นย้ำให้นักกีฬาทั้งหลายมีวินัยตลอดเวลา ทรงให้ความสำคัญต่อการฝึกซ้อมเป็นอันมาก ทรงสนพระทัยกีฬาที่มีโอกาสได้ฝึกซ้อม ด้วยทรงเห็นว่าการจะเป็นนักกีฬาที่ดีนั้น ต้องให้ความสนใจในการฝึกซ้อม เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และปรับปรุงตนเอง มีประสบการณ์เพิ่มขึ้นถ้านักกีฬาคนใดไม่ฝึกซ้อมก็จะเป็นนักกีฬาที่ดีไม่ได้

null

นอกจากนี้พระองค์ทรงสนพระทัยในการออกกำลังพระวรกายเพื่อสุขภาพเช่นกัน พระองค์ทรงออกกำลังพระวรกายสม่ำเสมออย่างถูกหลักวิชาการ คือ มีการบันทึกพระชีพจร ความดันพระโลหิตทั้งก่อนและหลังการทรงออกกำลังพระวรกาย รวมทั้งทรงกระตุ้นให้เกิดความอบอุ่นแก่พระวรกายก่อนเริ่ม และผ่อนคลายความตึงเครียดของพระกล้ามเนื้อ หลังจากการออกกำลังพระวรกาย โดยทรงปฏิบัติเช่นนี้เป็นกิจวัตร เป็นแบบฉบับของนักกีฬาที่ดี

null

ครั้งหนึ่งพระองค์ทรงเรือใบเสด็จออกจากฝั่งไปได้ไม่นานก็ทรงแล่นเรือใบเข้าฝั่ง ตรัสกับผู้ที่คอยมาเฝ้าเสด็จ อยู่ด้วยความฉงนว่าเสด็จกลับเข้าฝั่งเพราะเรือใบพระที่นั่งแล่นไปโดนทุ่นเข้าซึ่งในกติกาการแข่งเรือใบถือว่าฟาวล์ ทั้งๆ ที่ไม่มีใครเห็น

null

อีกเหตุการณ์หนึ่งระหว่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศกับกีฬาเรือใบที่คนไทยไม่มีวันลืมเลือน เมื่อทรงเป็นนักกีฬาเรือใบของประเทศไทย ทรงเข้าร่วมการแข่งขันในฐานะนักกีฬาทีมชาติของการแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 ครั้งนั้นทรงเรือเวคา 2 ใบ เรือหมายเลข TH 27 พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ (พระอิสสริยยศในขณะนั้น) ทรงเรือเวคา 1 ใบ เรือหมายเลข TH 18

null

การแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศทรงเรือใบนำมาตลอด ตามด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ และนักกีฬาทีมชาติพม่าซึ่งนับได้ว่าเป็นคู่แข่งที่สำคัญ ในการแข่งขันรอบสุดท้ายกระแสลมเปลี่ยนทิศทาง ทำให้ต้องทรงเรืออ้อมทุ่นผิดตำแหน่ง แม้กระนั้นก็ยังทรงนำเรือเข้าสู่เส้นชัยเป็นพระองค์แรก ตามด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ โดยภายหลังจากเข้าเส้นชัยและทรงทราบว่าอ้อมเรือผิดทุ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระสรวลก่อนทิ้งพระองค์ลงน้ำ และผลการแข่งขันในครั้งนั้นคณะกรรมการมีมติทำให้ทรงครองเหรียญทอง ร่วมกับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ

null

ทั้งสองเหตุการณ์นี้เป็นเพียงแค่บางช่วงบางตอนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศทรงใช้พระราชจริยาวัตรแสดงให้เห็นว่าในหลวงของคนไทยนั้นทรงเข้าใจในเรื่องสปิริตนักกีฬา อันหมายถึงรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ซึ่งจะเป็นแนวทางที่ใช้ได้ทั้งในเกมกีฬาและชีวิตประจำวันของคนทั่วไป

null

นอกจากจะทรงกีฬาหลายชนิดด้วยพระองค์เองจนสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีแล้ว ยังทรงเอาพระทัยใส่ติดตามข่าวกีฬาทุกประเภทอยู่เสมอ ในการเปิดกีฬาสำคัญในระดับประเทศและระดับนานาชาติ มักจะมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นอเนกประการ เช่น พระราชทานไฟพระฤกษ์ พระราชทานพระบรมราโชวาท เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงาน พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นักกีฬาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้แก่นักกีฬาและประชาชนตลอดมา

ภาพเมื่อครั้งเสด็จเยือนประเทศสเปน ทรงทอดพระเนตรเกม “เรอัล มาดริด” ดูฉบับวิดีโอคลิก >>> วิดีโอ

null

null

null

null

พระปรีชาสามารถด้านการกีฬาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศบางส่วน

1. เหรียญสดุดีพระเกียรติยศด้านการกีฬาที่องค์กรต่างประเทศทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย
2. เหรียญดุษฎีกิตติมศักดิ์ของโอลิมปิก “อิสริยาภรณ์โอลิมปิกชั้นสูงสุด (ทอง)” ในฐานะที่ทรงเป็นนักกีฬาอย่างแท้จริงและทรงสนับสนุนกีฬาจนเป็นที่ปรากฏชัดและนับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลกที่ทรงได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเหรียญโอลิมปิกชั้นสูงสุด
3. อิสริยาภรณ์สูงสุดทางการกีฬาของสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย ในฐานะที่ทรงเป็นนักกีฬายอดเยี่ยม และทรงให้การสนับสนุนส่งเสริมการกีฬาของเอเชียและของโลกอย่างต่อเนื่อง
4. ถ้วยลาลาอูนิส เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณด้านการกีฬาและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อวงการกีฬาของไทยและ
5. เหรียญสดุดีพระเกียรติคุณ “โกลเด้น ชายนิง ซิมโบลออฟ เวิลด์ ลีดเดอร์ชิพ” ในฐานะที่ทรงสนับสนุนการกีฬาของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกีฬามวย

ถึงแม้ว่าพระอัจฉริยภาพด้านการกีฬาของพระองค์จะเริ่มต้นจากความสนพระราชหฤทัยในเรื่องสุขภาพพลามัยส่วนพระองค์ แต่ด้วยทรงเห็นว่าเป็นพื้นฐานสำคัญของการดำเนินชีวิต จึงทรงพยายามปลูกฝังเรื่องความรักในการกีฬาเรื่อยมา ทั้งยังทรงปฏิบัติพระองค์เป็นแบบอย่างให้กับนักกีฬาที่ต้องสมบูรณ์พร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ นำมาปรับปรุงใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี

ปัจจุบันการกีฬาของประเทศไทยได้พัฒนาจนเติบโตเป็นที่เชิดหน้าชูตาในระดับโลก นานาชาติให้การยอมรับในกีฬาหลากหลายประเภททั้งแบบเดี่ยวหรือแบบทีมก็ตาม เห็นได้จากทุกครั้งที่มีการแข่งขันกีฬาทั้งจากในระดับภูมิภาค ถึงระดับเอเชียและทวีป

ประเทศไทยจะส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันจำนวนมาก ที่มีทั้ง “มิตร” และ “ไมตรี” อย่างสมภาคภูมิ

buaksib sport newsbuaksib sport news