บวกสิบบอลไทย น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ พ่อหลวง ร.9 ต่อฟุตบอลไทย
เนื่องในวันที่ 13 ตุลาคม เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร
ทางทีมงาน บวกสิบ และ บวกสิบบอลไทย ทุกคน ขอน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ต่อวงการฟุตบอลไทย
ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านกีฬา โดยได้รับพระสมญานาม “พระมหากษัตริย์นักกีฬา” อันเนื่องจากขณะทรงศึกษาอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พระองค์ทรงสนพระทัยและทรงโปรดกีฬาตั้งแต่พระเยาว์
ซึ่งในส่วนของกีฬาฟุตบอลนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระกรุณาธิคุณส่งเสริมและสนับสนุนกีฬาฟุตบอลเป็นอย่างยิ่ง จนกล่าวกันว่าเป็นยุครุ่งเรืองของวงการฟุตบอลเมืองไทย
สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ถือเป็นหนึ่งในสมาคมกีฬาที่อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช”
ความตอนหนึ่งในหนังสือ “พระมหากษัตริย์นักกีฬา พระราชาแห่งฟุตบอลสยาม” อ้างคำกล่าวของ พล.อ.ประเทียบ เทศวิศาล อดีตสภากรรมการบริหารสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว)
ที่กล่าวว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงติดตามผลการแข่งขันฟุตบอลของทีมชาติไทยอยู่เสมอด้วยวิทยุคลื่นสั้น ทรงมีพระบรมราโชวาทเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับการบริหาร
ฝึกซ้อมและวิธีการเล่นของนักฟุตบอลอย่างน้ำใจนักกีฬา ทรงมีความเข้าพระราชหฤทัยศาสตร์และศิลป์ของกีฬาฟุตบอลอย่างลึกซึ้ง
แม้แต่การเสด็จฯ แปรพระราชฐานประทับแรม ณ วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จะทอดพระเนตรการแข่งขันกีฬาภาค 7 (จ.นครปฐม จ.ราชบุรี จ.เพชรบุรี และ จ.ประจวบคีรีขันธ์)
และฟุตบอลคู่ชิงชนะเลิศปีพ.ศ. 2499 เป็นการแข่งขันระหว่างทีม จ.ประจวบคีรีขันธ์ กับทีม จ.นครปฐม ปรากฏว่ามีฝนตกลงมาอย่างหนัก
พระองค์ก็ยังทอดพระเนตรการแข่งขันฟุตบอลจนจบ โดยพระราชทานถ้วยชนะเลิศและพวงมาลัยแก่นักกีฬาตามประเพณีแทบทุกครั้ง ยังความปลาบปลื้มแก่นักฟุตบอลเหล่านั้นอย่างไม่ลืมเลือนตราบจนทุกวันนี้
พล.ต.สำเริง ไชยยงค์ หรือชื่อเดิม สำรวย ไชยยงค์ อดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทย ชุดประวัติศาสตร์เข้าแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 16 ที่นครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย
เมื่อปี พ.ศ.2499 นับเป็นนักกีฬาคนแรกที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงโปรดเกล้าฯพระราชทานทุนส่วนพระองค์
ให้เดินทางไปศึกษาวิชาการพลศึกษาชั้นสูง ณ สปอร์ตซูเล่ เมืองโคโลญจน์ ประเทศเยอรมนีตะวันตก จนสำเร็จหลักสูตรผู้ฝึกสอนฟุตบอลอาชีพชั้นสูง
หลังจากนั้น พล.ต.สำเริง ซึ่งเคยเป็นอดีตตำนานนักเตะทีมชาติไทย กลายเป็นยอดโค้ชที่เก่งที่สุดคนหนึ่งของประเทศ
เมื่อพา สโมสรธนาคารกรุงเทพ คว้าแชมป์ ถ้วย ข 1 สมัย และแชมป์ ถ้วย ก อีก 2 สมัย ก่อนกลายเป็นโค้ชทีมเยาวชนฟุตบอลของไทย ในเวลาต่อมา
อีกทั้ง พล.ต.สำเริง ยังนำความรู้มาถ่ายทอดให้เยาวชนไทย และได้ถวายงานสอนทักษะฟุตบอลแด่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10
เมื่อขณะทรงเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ ทรงศึกษาอยู่ที่โรงเรียนจิตรลดา โดยทรงมีพระปรีชาสามารถจนได้รับพระสมญาว่า “เจ้าฟ้าดาราลูกหนัง”
ถ้วยพระราชทาน ฟุตบอล คิงส์ คัพ
ศึกฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน ที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย ก็ได้เริ่มต้นขึ้นจากพระองค์ท่าน เมื่อปี พ.ศ. 2511
ทัวร์นาเมนต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการชิงถ้วยพระราชทานจาก “พ่ออยู่หัว” เพราะขุนพลนักฟุตบอลทีมชาติไทย ที่ผ่านการคัดเลือกว่าเป็นกลุ่มนักเตะที่ดีที่สุดของประเทศ
จะได้ลงฟาดแข้งเพื่อชิงถ้วยรางวัลใบสำคัญกับผู้มาเยือนจากชาติต่าง ๆ โดยแข่งครั้งแรกในปี พ.ศ. 2511 และจัดขึ้นทุกปี มีเว้นบ้างในบางโอกาส
โดยทีมที่ได้แชมป์มากที่สุดหนีไม่พ้น “ช้างศึก” ที่สู้ถวายหัวคว้าถ้วยพระราชทานอันทรงเกียรติมาได้ถึง 15 สมัย
ฟุตบอล พระราชทานถ้วย ก. และ ข.
นี่คือ ทัวร์นาเมนต์ที่เก่าแก่ที่สุดแห่งวงการลูกหนังเมืองไทย เปรียบได้กับการแข่งขันฟุตบอลอังกฤษ แชริตี ชิลด์ ระหว่างแชมป์ลีกสูงสุด เจอแชมป์เอฟเอคัพ
โดยสำหรับเมืองไทยแบ่งเป็นสองประเภทคือถ้วย ก. (ถ้วยใหญ่) สำหรับทีมระดับอาชีพ และ ถ้วย ข. (ถ้วยน้อย) สำหรับทีมระดับสมัครเล่น
ซึ่งการแข่งขันถ้วยพระราชทาน 2 รายการนี้ เริ่มขึ้นในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ปี พ.ศ.2459
ก่อนที่ ปี พ.ศ. 2504 “ในหลวง” จะทรงโปรดเกล้าฯ เพิ่มมาอีก 2 รายการคือ ถ้วย ค. กับ ถ้วย ง. ซึ่งเป็นระดับรองลงมา และแข่งมาจนถึงปัจจุบัน
“ในหลวงรัชกาลที่ 9” ทรงติดตามผลงานของนักฟุตบอลไทยอยู่เนืองนิตย์ตลอดมา ดั่งหลายเหตุการณ์ที่ปรากฏและเป็นสิ่งที่พสกนิกรคนไทยและคนฟุตบอลไทยปลาบปลื้ม
เช่นการแข่งขันฟุตบอลกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 18 รอบชิงชนะเลิศ วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2537 ณ สนามสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ทีมชาติไทยพบทีมชาติเวียดนาม
ก่อนลงสนามทีมชาติไทยต้องใส่ชุดสีน้ำเงินเป็นนัดแรกของการแข่งขันจนเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่สุดท้ายแล้วทีมชาติไทยชนะ 4-0
แต่สิ่งที่นำมาสู่ความปลื้มปีติของนักฟุตบอลและวงการฟุตบอลไทย คือ พระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ความว่า
“…สีเสื้อนั้นไม่ใช่สิ่งสำคัญ ถึงใส่สีน้ำเงินก็ชนะได้ ถ้าหากไทยเก่งพอ มีความสามารถและมีความพร้อมกว่าคู่ต่อสู้…”
ส่วน เหตุการณ์ล่าสุดที่นำมาซึ่งความปลาบปลื้มแก่ชาวไทยคือการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน “เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2014” นัดชิงชนะเลิศ นัดที่ 2
ที่สนามกีฬาแห่งชาติ “บูกิต จาลีล” ประเทศมาเลเซีย ทีมชาติไทยตกอยู่สถานการณ์เป็นรองตามหลังอยู่ 0-3 แต่ภายหลังกลับมายิง 2 ประตูแพ้ 2-3
รวมสกอร์ 2 นัดทีมชาติไทยชนะ 4-3 คว้าแชมป์มาครอง โดยภายหลังจบเกม นายเกษม จริยวัฒน์วงศ์ ผู้จัดการทีมชาติไทยเปิดเผยว่า
“ผมได้รับข้อความจากราชเลขาฯ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่โทรศัพท์เข้ามาหาตั้งแต่ครึ่งแรก แต่ไม่ได้รับ ทำให้ราชเลขาฯ
ได้ส่งเบอร์ของท่านให้ติดต่อกลับไป ซึ่งในระหว่างที่ติดต่อกลับ มือไม้สั่นไปหมดจน นพ.ชนินทร์ ล่ำซำ แพทย์ประจำทีม ต้องเข้ามาช่วยหาเบอร์
เพราะมีเบอร์ติดต่อเข้ามาเยอะมาก ก่อนที่ผมจะติดต่อกลับไป พร้อมกับได้รับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากราชเลขาฯ ว่า
“ขอให้กำลังใจกับผู้เล่นทุกคน ขออวยพรให้มีชัยชนะ อย่าย่อท้อแม้ว่าจะตามอยู่ 0-3 ซึ่งในหลวงได้ทอดพระเนตรเกมนี้อยู่”
หลังจากวางสายโทรศัพท์ไม่นาน ทีมชาติไทยกลับมายิงได้ 2 ประตูทันที ทำให้คิดถึงพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงห่วงใยทีมฟุตบอลทีมชาติไทยในเกมนี้”
“ในหลวงรัชกาลที่ 9” คือศูนย์รวมใจของไทยทั้งชาติและเป็นกำลังใจที่เกินจะหาคำใดมาบรรยายได้ นั่นคือเหตุผลที่นักกีฬา
และนักฟุตบอลไทยได้เชิญพระบรมฉายาลักษณ์ของ “ในหลวงรัชกาลที่ 9” ขึ้นเทิดทูนตั้งแต่ก่อนแข่งขันและหลังการแข่งขันดั่งภาพที่ปรากฏต่อชาวโลกในทุกทัวร์นาเมนต์ของการแข่งขัน
ปวงข้าพระพุทธเจ้าทีมงาน บวกสิบ และ บวกสิบบอลไทย ขอเป็นข้ารองพระบาท และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณตราบนิจนิรันดร์
“เสด็จสู่ฟากฟ้าสุราลัย พระมหากรุณาธิคุณจารึกในใจไทยชั่วกาล…”
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้า ทีมงาน บวกสิบ และ บวกสิบบอลไทย
ขอบคุณที่มาเรื่องและภาพจาก : th.wikipedia.org, www.wikipedia.com,