กลายเป็นประเด็นดราม่า ใน ฟุตบอลไทย หลังจากที่ตอนนี้มี นักบอลไทย หลายคนออกมาเรียกร้อง ผ่านโซเชียล เรื่องการโดนค้างค่าเหนื่อย
ปฏฺิเสธ ไมได้ว่า ตั้งแต่ปลายปีก่อน จนถึงช่วงต้นปีนี้ มีนักบอลไทย รวมถึงต่างชาติ ที่ค้าแข้งในไทยลีก หลายราย ออกมาเรียกร้องว่าโดนสโมสรต้นสังกัด ค้างค่าเหนื่อย เป็นจำนวนมาก
ยกตัวอย่างล่าสุด ที่เหล่าอดีตพ่อค้าแข้งของสโมสร เมืองกาญจน์ ยูไนเต็ด ได้ออกมาทวงเงินจากประธานสโมสร ผ่านเพจเฟซบุ๊คสโมสร
และรวมถึง ประกิต ดีพร้อม ที่ออกมาไลฟ์สด เกี่ยวกับการบริหารงานของ อุดรธานี เอฟซี และยังไมได้รับการชี้แจงจากสโมสร ทั้งสองสโมสร
คำถามที่เกิดขึ้นตามมาคือ นักฟุตบอลเหล่านี้ต้องทำอย่างไรต่อ เพื่อให้ได้รับเงินที่เขาสมควรได้? ทำไมสมาคมฯ หรือ ไทยลีก ไม่เทคแอคชั่น กับ เหตุการณ์เหล่านี้, สหภาพนักฟุตบอลล่ะ ต้องทำอย่างไรต่อไป และสโมสร ควรจะโดนบทลงโทษแบบไหน หากไม่ยอมจ่ายเงิน
– สิ่งที่นักฟุตบอลต้องทำ?
การป่าวประกาศผ่าน โซเชียล ถือเป็นสิ่งที่นักฟุตบอล พึงกระทำได้ เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรม และเนื่องด้วย สังคมออนไลน์ ณ เวลานี้ ถือเป็นกระบอกเสียงที่ช่วยบอกต่อถึงปัญหา
สิ่งที่นักฟุตบอลควรทำหลังจากนี้ นอกจากการประกาศผ่านโซเชียล คือการเดินเรื่องฟ้องศาลแรงงาน พร้อมนำหลักฐาน เรื่องสัญญาค่าจ้างต่างๆ และใบเสร็จรวมถึงสลิปต่างๆ เป็นหลักฐาน เพื่อให้ศาลตัดสิน และอาจจะต้องมีการจ่ายค่าชดเชย มากกว่าค่าแรงที่สมควรได้รับเป็นต้น
และหรือ เดินทางไปที่ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ หรือ บริษัท ไทยลีก จำกัด เพื่อกรอกแบบฟอร์ม ยื่นคำร้อง เพื่อให้ทาง สมาคมฯ หรือ ไทยลีก ยื่นหนังสือเรียกคู่กรณีมาไกล่เกลี่ย ก่อนที่เรื่องจะไปยิ่งใหญ่ถึงศาล
– ทำไม สมาคมฯ หรือ ไทยลีก ไม่เทคแอคชั่น
เปรียบภาพให้เห็นง่ายๆ หากเป็นนักฟุตบอลต่างประเทศ มีใครโดนค้างค่าแรง สมาคมฯฟุตบอลในแต่ละประเทศ หรือ องค์กร อย่าง ยูฟ่า หรือ ฟีฟ่า ก็คงไม่ได้อ่านข้อความทางโซเชียลต่างๆ ซึ่งนั่นไม่ใช่หน้าที่ขององค์กร
สิ่งที่นักเตะต้องทำคือ ทำเรื่องฟ้องร้องเพื่อให้เข้าสู่กระบวนการขั้นตอนการพิจารณา ต่างๆ ยกตัวอย่างในเคส ของ อดีตนักฟุตบอลของอีสาน ยูไนเต็ด ที่ได้ยื่นคำร้องต่อสมาคมฯ แม้การพิจารณาคดี อาจจะล่าช้า แต่สุดท้าย เมื่อมีการยื่นคำร้อง และเรื่องไปถึงฟีฟ่า ฟีฟ่า ก็มีการส่งจดหมายมา เพื่อบังคับให้เหล่าสโมสรเหล่านั้น ชำระเงิน ตามกฏหมาย หรือตามสัญญาที่นักเตะควรได้รับ
เมื่อหากสโมสร ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง หรือคำตัดสินที่ออกมา ก็อาจจะมีการอุทธรณ์ไปที่ศาล และเมื่อศาลพิจารณาชั้นตอนทั้งหมด แล้ว หากสโมสรยังไม่ปฏิบัติตามอีก ก็จะมีบทลงโทษ ที่สั่งมาที่สมาคมฯ ให้ทำการหักคะแนนสโมสร หรือ การปรับตกชั้นเป็นต้นนั่นเอง
– แล้วทำไม สมาคมฯ หรือไทยลีก ไม่สามารถตัดสิน หรือหักแต้ม ณ ตอนนี้ได้เลย
เนื่องจาก ปัจจุบัน ด้วยระบบการทำงานขององค์กร ที่ไมได้มีศาลภายในองค์กร จึงไม่สามารถตัดสินว่า นักเตะมีความผิด หรือ สโมสร มีความผิด นั่นจึงเป็นสิ่งที่ต้องนำเรื่องไปฟ้องต่อศาลแรงงานเท่านั้น
แล้วสมาคมฯ หรือ ไทยลีก ทำอะไรได้บ้าง สิ่งหนึ่งคือ สมาคมฯ และไทยลีก มีหน้าที่ออกใบอนุญาตสโมสร หรือ คลับ ไลเซนซิง ตามกฏระเบียบ และหนึ่งในหัวข้อในนั่นก็คือเรือง การเงิน ซึ่งหากสโมสรใดที่มีหนี้ติดค้าง มีเรื่องฟ้องร้อง
ทางสมาคมฯ หรือ ไทยลีก ก็มีสิทธิ์ที่จะไม่ออกใบอนุญาต และเมื่อสโมสรไม่ได้รับใบอนุญาต หรือ คลับ ไลเซนซิง พวกเขาก็ไม่สามารถทำการแข่งขันได้ เมื่อไม่สามารถทำการแข่งขันได้ สโมสรก็จะถูกนำไปอยู่ในลีกฟุตบอลระดับสมัครเล่น และต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง
– การมีสหภาพนักฟุตบอล ช่วยอะไรได้บ้าง
ณ ปัจจุบัน ประเทศไทย ได้มี PFA Thailand หรือสมาคมนักฟุตบอลอาชีพแห่งประเทศไทยฯ ทีมี สินทวีชัย หทัยรัตนกุล เป็นนายกสมาคมฯ สหภาพนี้ จะมีหน้าที่คอยช่วยเหลือและประสานงาน ทั้งกับสมาคมฯ และไทยลีก สำหรับนักฟุตบอลที่ไม่เข้าใจเรื่องกฏหมาย และอาจจะรวมถึง ช่วยส่งหนังสือไปยังองค์กร ที่ใหญ่ขึ้นอย่างฟีฟ่า
แน่นอนว่าทุกอย่างต่างมีกระบวนการ และนี่คือขั้นตอนสำหรับนักฟุตบอลอาชีพ ที่โดนค้างค่าจ้าง สามารถทำได้