พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 ของไทย ถือเป็น”กษัตริย์นักกีฬา” นอกจากจะทรงต่อเรือใบเอง ทรงนำมาใช้แข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 ปี พ.ศ.2510 (หรือซีเกมส์ในปัจจุบัน) และชนะเลิศการแข่งขันแล้ว
พระองค์ยังโปรดกีฬามวยด้วยเช่นกัน ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อบุคคลวงการมวยเป็นล้นพ้น ในอดีตเสด็จทอดพระเนตร “จำเริญ ทรงกิตรัตน์” คราวขึ้นชิงแชมป์โลกครั้งแรกในประวัติศาสตร์วงการมวยของไทย รวมทั้งไฟต์สำคัญของโผน กิ่งเพชร จนกลายเป็นแชมป์โลกคนแรกของไทยได้สำเร็จ
ข้อมูลจากหนังสือ “พระมหากษัตริย์นักกีฬา” ที่ “การกีฬาแห่งประเทศไทย” จัดทำขึ้นเล่าเหตุการณ์ไว้ว่า เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2503 เป็นวันที่ “โผน กิ่งเพชร” หรือ “มานะ สีดอกบวบ” ได้ขึ้นชกมวยสากลอาชีพชิงแชมป์โลกกับปาสคาล เปเรซ แชมป์โลกชาวอาร์เจนติน่า ที่เวทีมวยลุมพินีเบื้องหน้าพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยโผนสามารถเอาชนะแชมป์โลก ได้ครองแชมป์โลกรุ่นฟลายเวต กลายเป็นแชมป์โลกคนแรกของไทยอย่างยิ่งใหญ่
มณฑา สีดอกบวบ ภรรยาของโผนได้ถ่ายทอดความประทับใจในวันที่โผนป้องกันแชมป์ครั้งแรกที่ลุมพินีว่า “หลังจากโผนป้องกันตำแหน่งแชมป์ได้สำเร็จ โผนสวมเสื้อคลุมขึ้นไปเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จ
พระเจ้าอยู่หัว และพระองค์ได้พระราชทานถ้วยภ.ป.ร.ให้ จากนั้นทรงยกพระหัตถ์ตบไหล่โผน ตรัสว่า เก่งมาก ให้รักษาตำแหน่งเอาไว้ให้นานๆ โผนปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ถึงกับแสดงอาการประหม่าให้เห็น และกราบบังคมทูลไปว่า “อภัยย่ะครับ” ตอนนั้นราชองครักษ์ของพระองค์ต้องกระซิบบอกโผนว่า ให้กราบบังคมทูลว่า “พ่ะย่ะค่ะ” ใช้ได้ทั้งชายและหญิง โผนได้เก็บความภาคภูมิใจในวันนั้นได้เป็นอย่างดี และเล่าถึงความรู้สึกให้ฟังว่าเป็นช่วงเวลาที่ตื่นเต้น ดีใจจนตัวลอย ดีใจกว่าช่วงที่ได้ครองตำแหน่งแชมป์โลกเสียอีก ทุกครั้งที่พระองค์เสด็จทอดพระเนตรโผนขึ้นชก โผนจะตื่นเต้น คอยมองไปยังที่ประทับตลอดเวลาว่าจะเสด็จฯ เมื่อไหร่ ทันทีที่เห็นพระองค์เสด็จฯมาถึง โผนจะเกิดความรู้สึกตื้นตันใจเป็นล้นพ้น”
“มีอยู่ครั้งหนึ่ง พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเมื่อโผนชกไปถึงยก 7 หรือยก 8 ตอนนั้นไม่แน่ใจ ในเวลานั้นโผนทำท่าจะหมดแรง แล้วมีคนตะโกนว่า พระองค์เสด็จฯ มาแล้ว โผนได้ยิน ก็มีกำลังใจฮึดขึ้นมาทันที จนคว้าชัยชนะมาครอบครองได้”
ไฟต์ดังกล่าว โผนพลิกกลับมาเอาชนะ ไฟติ้ง ฮาราดะ จากญี่ปุ่น ทวงแชมป์โลกคืนมาได้สำเร็จเมื่อ 12 มกราคม 2506 ที่ยิมเนเซียม สนามกีฬาแห่งชาติ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จทอดพระเนตรเป็นการส่วนพระองค์ตั้งแต่ยกที่ 3 แล้ว
ทั้งยังทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อชาติชาย เชี่ยวน้อย อดีตแชมเปี้ยนโลกคนที่สองของไทย อย่างหาที่สุดมิได้
ทรงโปรดฯ ให้ชาติชายเข้าเฝ้าฯ เป็นการส่วนพระองค์ ร่วมเล่นดนตรี พูดคุย ดั่งเป็นพระสหายสนิท จากคำบอกเล่าจากปากของชาติชาย เชี่ยวน้อย เมื่อครั้งยังครองตำแหน่งแชมเปี้ยนโลก จากหนังสือ “ชาติชาย เชี่ยวน้อย” วีรบุรุษหมัดภูผาหิน บรรยายถึงพระมหากรุณาธิคุณไว้ว่า เมื่อ 30 ธันวาคม 2509 ก่อนขึ้นชกชิงแชมป์โลกครั้งแรกกับ วอลเตอร์ แม็คโกแวน แชมป์โลกรุ่นฟลายเวต ชาวอังกฤษที่สนามกิตติขจร
“…พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเอื้อมพระหัตถ์มาแตะที่บ่า และในบางครั้งก็เชยคาง ชาติชาย เชี่ยวน้อย ซึ่งกำลังหมอบอยู่เบื้องพระบาท ให้เงยขึ้นรับฟังพระราชดำรัสที่ตรัสสั่งสอน และให้ศีลให้พร…” และภายหลังการชกได้เข้าเฝ้าฯ พระองค์ทรงมีพระราชปฏิสันถาร ซึ่งชาติชาย ชเล่าไว้ว่า “ผมลงจากเวที แล้วตรงเข้าไปเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทันทีที่ผมไปเบื้องพระพักตร์ พระองค์ทรงเอื้อมพระหัตถ์มาจับหน้าผม แล้วทรงเขย่าเบาๆ จากนั้นมีรับสั่งว่า เก่งมาก ฉันดีใจมาก ผมรู้สึกปลาบปลื้มมาก ไม่มีอะไรเปรียบปานเลย หาที่สุดไม่ได้เลย”
ไม่เพียงเท่านี้ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันยังมี “เบิกฤกษ์ ชาติวันชัย” ที่เอาชนะ เบอร์นาเบ้ วิลลาแคมโป้ จากฟิลิปปินส์ ได้ครองแชมป์โลกรุ่นฟลายเวต สมาคมมวยโลก เป็นแชมป์โลกคนที่สามของไทย เมื่อ 10 เมษายน 2513 เบิกฤกษ์ เคยเล่าไว้ว่า ในยกที่ 14 โดนบดจนหมดเรี่ยวแรงแล้ว แต่ทว่าเมื่อมองไปยังที่ประทับเห็นพระเจ้าอยู่หัวทรงส่องกล้องทอดพระเนตรอยู่ ทำให้เบิกฤกษ์เกิดมีแรงฮึดขึ้นมาอีก ออกจากมุมมาเดินแลกกับแชมป์โลกจนเป็นฝ่ายชนะคะแนน
กระนั้นไฟต์ที่ชาติชายเสียแชมป์โลกให้แก่เออร์บิโต้ ซาลาวัลเลียร์ ผู้ท้าชิงฟิลิปปินส์ไปเพียงแค่ยกที่สอง เมื่อ 7 ธันวาคม 2513 นับเป็นการเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรมวยชิงแชมป์โลกในเมืองไทยเป็นครั้งสุดท้าย เพราะหลังจากนั้น มิได้มีนักชกผู้ใด ได้แข่งขันถวายเฉพาะพระพักตร์อีกเลย
คงมีเพียง แสน ส.เพลินจิต ที่ได้รับพระราชทานช่อดอกไม้เป็นของขวัญกำลังใจ ผ่านเจ้าหน้าที่สถานทูตของไทยรายเดียวเท่านั้น เมื่อครั้งแสนเดินทางไปป้องกันแชมป์โลก WBA เอาชนะน็อก ฮิโรกิ อิโอกะ ถึงประเทศญี่ปุ่น
รวมถึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรดาฮีโร่กำปั้นจากโอลิมปิกเกมส์ ได้เข้าเฝ้าฯ โดยเฉพาะ “เจ้าบาส” สมรักษ์ คำสิงห์ ได้รับพระราชทานเหรียญรางวัลจากพระหัตถ์ ในฐานะสร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญทอง โอลิมปิกเกมส์ จากแอตแลนตา สหรัฐ เมื่อพ.ศ. 2539 ซึ่งเป็นเหรียญทองแรกให้พี่น้องชาวไทยได้สำเร็จอีกด้วย
ทรงห่วงใยนักมวยไทยที่มีพื้นฐานมาจากคนยากจน ได้รับการศึกษาน้อย แต่มีพรสวรรค์ และตรัสไว้ระหว่างนายโฮเซ่ สุไลมาน ประธานสภามวยโลก เข้าเฝ้า เมื่อ 26 พ.ย. 2545 ว่า นักมวยเมื่อเลิกต่อยแล้ว ต้องประกอบอาชีพ หรือดูแลตัวเองเมื่อกลับไปสู่ถิ่นลำเนาเดิม ทรงขอให้ผู้เกี่ยวข้องมีความซื่อสัตย์ต่อกัน ไม่เบียดบังผลประโยชน์แต่ละฝ่ายที่จะได้รับ และทรงห่วงใยนักมวยที่ได้รับบาดเจ็บจากการชก ควรดูแลให้ดี รวมทั้งการจัดหาอาชีพเพื่อดูแลครอบครัวหลังเลิกชกมวยแล้ว เช่นเป็นเทรนเนอร์ เป็นต้น
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ อย่างล้นพ้น ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานกำลังใจ และความเป็นสิริมงคลให้แก่นักมวย และบุคคลในวงการกีฬามวย
ขอบคุณเนื้อหาข่าวทั้งหมดจาก : https://www.khaosod.co.th/sports/news_53694