ข่าวฟุตบอล ไทยลีกในหลวง พระอัจฉริยภาพด้านกีฬา และ พระราชปณิธานกีฬาที่ยิ่งใหญ่
ในหลวง
ในหลวง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ในหลวง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้รับการกล่าวขานจากประชาคมโลก ว่า เป็น “พระมหากษัตริย์นักพัฒนา” ผู้ทรงริเริ่มโครงการต่าง ๆ ทรงงานอย่างหนักเพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวไทยให้อยู่เย็นเป็นสุข นอกจากนี้ ท่านยังมีพระปรีชาสามารถในด้านกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะการกีฬา ซึ่งในอดีต “ในหลวง” ของปวงชนชาวไทย ได้แสดงพระปรีชาสามารถเรื่องของกีฬา และได้รับรางวัลความสำเร็จมาแล้ว

พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 ของไทย ทรงโปรดกีฬา “เรือใบ” เป็นอย่างมาก และได้แสดงพระอัจฉริยภาพด้วยการต่อเรือจากฝีพระหัตถ์ โดยเรือใบลำที่พระองค์ทรงต่อด้วยพระหัตถ์ คือ เรือใบพระที่นั่งเอ็นเตอร์ไพรส์ พร้อมพระราชทานชื่อว่า “ราชปะแตน” และต่อมาทรงต่อเรือใบประเภท OK ขึ้นอีก พระราชทานชื่อว่า “นวฤกษ์” ซึ่งเรือนวฤกษ์นี้เองทรงนำมาใช้แข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 (หรือ ซีเกมส์ ในปัจจุบัน)

วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2510 การแข่งขันเรือใบในกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 ณ ประเทศไทย นับเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ของพสกนิกรชาวไทย เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นตัวแทนของชาติร่วมแข่งขันเรือใบประเภท OK ร่วมกับ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเรือเวคา 2 ใบเรือหมายเลข TH27 ส่วน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ ทรงเรือเวคา 1 ใบเรือหมายเลข TH 18

รอบชิงชนะเลิศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเรือใบนำมาตลอด ตามด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ และนักกีฬาทีมชาติพม่า ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญ รอบสุดท้ายกระแสลมเปลี่ยนทิศทาง ทำให้ต้องทรงเรืออ้อมทุ่นผิดตำแหน่ง กระนั้นก็ยังทรงนำเรือเข้าสู่เส้นชัยเป็นพระองค์แรก ตามด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ โดยภายหลังจากเข้าเส้นชัย และทรงทราบว่า อ้อมเรือผิดทุ่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระสรวลก่อนทิ้งพระองค์ลงน้ำ และผลการแข่งขันในครั้งนั้น คณะกรรมการมีมติทำให้ทรงครองเหรียญทอง ร่วมกับ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ

เหรียญทองของท่านได้ทำให้พสกนิกรชาวไทยที่เดินทางมาชมพระปรีชาสามารถถึงขอบสนาม ส่งเสียงกู่ร้องด้วยความยินดี อย่างไรก็ตาม มีเหตุการณ์หนึ่งได้ถูกบันทึกไว้ เขียนโดย พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ว่า “ครั้งหนึ่งเสด็จฯ ออกจากฝั่งไปได้ไม่นาน ก็ทรงแล่นเรือใบเข้าฝั่ง ตรัสกับผู้ที่คอยมาเฝ้าฯ อยู่ด้วยความฉงนว่า เสด็จฯ กลับเข้าฝั่งเพราะเรือใบพระที่นั่งแล่นไปโดนทุ่นเข้า ซึ่งในกติกาการแข่งเรือใบถือว่าฟาวล์ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครเห็น”

เหตุการณ์นี้เป็นสิ่งที่บ่งบอกได้ว่า นอกจากพระปรีชาสามารถในด้านกีฬาแล้ว พระองค์ยังทรงมีพระราชจริยวัตรที่แสดงให้เห็นว่า “ในหลวงของคนไทย” ทรงเข้าใจในเรื่องสปิริตนักกีฬา อันหมายถึงรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ซึ่งจะเป็นแนวทางที่ใช้ได้ทั้งในเกมกีฬาและชีวิตประจำวันของคนทั่วไป

ครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับการกีฬาไว้ ว่า “การกีฬามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับชีวิตของแต่ละคนและชีวิตบ้านเมือง” นั่นแสดงให้เห็นถึงพระราชปณิธานในเรื่องการส่งเสริมการกีฬาว่าเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาบุคคลและประเทศชาติ จึงทรงส่งเสริมกีฬาทุกประเภท ซึ่งหลังจากนั้นพระองค์ก็ยังทรงฝึกซ้อมและเข้าร่วมการแข่งขัน เอเชียนเกมส์ครั้งที่ 5, 6 และ 8 รวมทั้งกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4, ครั้งที่ 8 และครั้งที่ 13 เรื่อยมา รวมถึงทรงเล่นกีฬาหลากหลายชนิด เช่น สกีน้ำ ว่ายน้ำ เรือกรรเชียง เรือพาย แบดมินตัน ยิงปืน กอล์ฟเล็ก การแข่งขันรถเล็ก เครื่องร่อน ฯลฯ ซึ่งแต่ละชนิดพระองค์จะศึกษาข้อมูลกีฬาแต่ละชนิดอย่างละเอียด และฝึกฝนจนปฏิบัติได้ดี

นอกจากจะทรงกีฬาหลายชนิดด้วยพระองค์เองจนสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีแล้ว ยังทรงเอาพระทัยใส่ติดตามข่าวกีฬาทุกประเภทอยู่เสมอ ในการเปิดกีฬาสำคัญในระดับประเทศและระดับนานาชาติ มักจะมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นอเนกประการ เช่น พระราชทานไฟพระฤกษ์ พระราชทานพระบรมราโชวาท เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงาน พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นักกีฬาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้แก่นักกีฬาและประชาชนตลอดมา

เหนืออื่นใด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านยังทรงเคารพกฎกติกาของการกีฬาที่ทรงเล่น และมักจะเน้นย้ำให้นักกีฬาทั้งหลายมีวินัยตลอดเวลา ทรงให้ความสำคัญต่อการฝึกซ้อมเป็นอันมาก ทรงสนพระทัยกีฬาที่มีโอกาสได้ฝึกซ้อม ด้วยทรงเห็นว่าการจะเป็นนักกีฬาที่ดีนั้นต้องให้ความสนใจในการฝึกซ้อม เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และปรับปรุงตนเองให้มีประสบการณ์เพิ่มขึ้น “ถ้านักกีฬาคนใดไม่ฝึกซ้อมก็จะเป็นนักกีฬาที่ดีไม่ได้”

สุดท้าย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หากไม่ได้ทรงกีฬา ก็ยังสนพระทัยในการออกกำลังพระวรกายเพื่อสุขภาพ เช่น วิ่งเหยาะและเดินเร็ว การออกกำลังพระวรกายสม่ำเสมออย่างถูกหลักวิชาการ รวมทั้งทรงกระตุ้นให้เกิดความอบอุ่นแก่พระวรกายก่อนเริ่ม และผ่อนคลายความตึงเครียดของกล้ามเนื้อหลังจากการออกกำลังพระวรกาย โดยทรงปฏิบัติเช่นนี้เป็นกิจวัตรเป็นแบบฉบับของนักกีฬาที่ดีและทำให้พระวรกายของพระองค์แข็งแรง พร้อมที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปในที่ต่างๆ เพื่อทรงเยี่ยมเยียนราษฎรของพระองค์ได้เสมอ

สดุดีแด่ “พระมหากษัตริย์นักกีฬา”