เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ทีมชาติไทย ได้ลงสนามในบ้านเป็นนัดแรกของฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก 2018 ณ สนามราชมังคลากีฬาสถาน ท่ามกลางแฟนลูกหนังกว่า 4 หมื่นคน แม้ว่าผลการแข่งขันจะพ่ายแพ้ต่อทีมชาติญี่ปุ่น 0-2 แต่ก็ทำให้ได้รู้ว่า มาตรฐานฟุตบอลของเราก้าวจากระดับอาเซียนมาสู่ระดับเอเชียแล้ว
หากแต่รอยสตั๊ดในวันนี้ จะขอเขียนถึงสนามเหย้าในอดีตของทีมชาติไทยเมื่อ 20 ปีก่อน ที่หลายคนคงต้องเคยได้สัมผัสบรรยากาศ และเรื่องราวอันน่าจดจำของสนามแห่งนี้ นั่นคือ “สนามศุภชลาศัยกรีฑาสถานแห่งชาติ”
สำหรับประวัติความเป็นมาพอสังเขป เริ่มจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้อนุมัติงบประมาณกว่า 170,000 บาท ตามที่ น.อ.หลวงศุภชลาศัย เสนอเรื่องขึ้นไป เพื่อดำเนินงานสร้าง “สนามกรีฑาสถาน” (National Stadium) ณ บริเวณกรมพลศึกษา ปทุมวัน ซึ่งเป็นพื้นที่เช่าของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเริ่มวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2480 แบ่งขั้นตอนก่อสร้างเป็น 4 ช่วง จนแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2484 มีความจุผู้ชมประมาณ 40,000 คน นับเป็นสนามกีฬาระดับมาตรฐานสากลแห่งแรกของประเทศไทย
ต่อมา ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2485 สนามกรีฑาสถาน จึงถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “สนามศุภชลาศัยกรีฑาสถานแห่งชาติ” เพื่อเป็นเกียรติแก่ “น.อ.หลวงศุภชลาศัย” อธิบดีกรมพลศึกษาคนแรก นั้นเอง โดยสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ได้ขอเช่าสนามจากกรมพลศึกษา สำหรับจัดการแข่งขันชิงถ้วยพระราชทาน ประจำปี 2488 ทำให้สนามศุภฯ จึงกลายเป็นสนามหลักของสมาคมฟุตบอลฯ และทีมชาติไทย ตลอดมากว่า 6 ทศวรรษ
มีเรื่องราวมากมายที่เกิดขึ้น ทั้งรอยยิ้ม และคราบน้ำตา จนกลายเป็นตำนานในความทรงจำของแฟนลูกหนังและอดีตนักเตะทีมชาติหลายยุคหลายสมัย ทีมชาติไทยลงเล่น ณ สนามศุภชลาศัยฯ เป็นแมตช์แรกอย่างเป็นทางการ เมื่อใดนั้นไม่มีการบันทึกเป็นหลักฐาน นอกจากบทสัมภาษณ์นักฟุตบอลชุดปรี-โอลิมปิก พ.ศ. 2498 ที่กล่าวว่า ทีมไทยลงสนามรอบคัดเลือก เสมอทีมพม่า และทีมฮ่องกง ก่อนจะชนะผ่านนัดเยือน จนคว้าสิทธิ์ไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 16 (ค.ศ. 1956)
แต่สำหรับกีฬาระดับชาติรายการแรกของสนามแห่งนี้ คือกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 12 – 17 ธันวาคม 2502 ฟุตบอลแมตช์ที่อาจถือว่ายิ่งใหญ่ของทีมไทยกับการเล่นที่สนามศุภฯ คือเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2511 ฟุตบอลปรี-โอลิมปิก นัดสุดท้าย หรือ “นัดชิงดำ” ทีมไทย ชนะ ทีมอินโดนีเซีย 2 – 1 ส่งผลให้เข้าสู่รอบ 16 ทีมสุดท้าย กีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 19 (ค.ศ.1968) ณ ประเทศเม็กซิโก
นอกจากนี้พื้นดินและยอดหญ้าเคยรองรับสตั๊ดของสโมสรและนักเตะระดับโลก อาทิ บรู๊ซ ริอ๊อค (อังกฤษ), เปเล่ (บราซิล), คาร์ล-ไฮนซ์ รุมเมนิกเก้ (เยอรมัน), มาร์ค ฮิวจ์ส (เวลส์), ปีเตอร์ ชไมเคิ่ล (เดนมาร์ก), รุด กุลลิท (ฮอลแลนด์), โรแบร์โต บาจโจ (อิตาลี) ฯลฯ และทีมชาติระดับโลกอีกหลายทีม เช่น ทีมชาติสวีเดน, ทีมชาติเยอรมนี, ทีมชาติอังกฤษ, ทีมชาติเดนมาร์ก, ทีมชาติบราซิล ฯลฯ ขณที่มีผู้เล่นไทยคนเดียวที่ได้รับฉายาจากสนามแห่งนี้ คือ “สิงห์สนามศุภ”นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์ นั่นเอง
ในปัจจุบันนี้ ทีมชาติไทยอาจจะใช้สนามราชมังคลากีฬาสถาน เป็นสนามหลักแล้วก็ตาม แต่ความทรงจำและเรื่องราวความสำเร็จที่สนามศุภฯ หรือ “เวมบลีย์เมืองไทย” ยังคงเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของยุครุ่งเรืองฟุตบอลเมืองไทย ที่มิอาจถูกลบให้ลืมเลือนไปได้
ข้อมูลจาก : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/717328