วันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2559 เวลา 10.30 น. ณ ที่ทำการชั่วคราวสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ อาคาร พงษ์สุภีร์ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย จัดการประชุมพร้อมมอบนโยบายแก่ผู้ตัดสินทั้ง 12 คนที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ตัดสินประจำสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย
รายชื่อดังกล่าวมาจากการโหวตของ 18 สโมสรในศึกโตโยต้าไทยลีก โดยให้ทุกทีมลงคะแนนเลือก 12 ผู้ตัดสินจาก 25 คน โดย 12 ผู้ตัดสินที่ได้รับการคัดเลือกประกอบไปด้วย นายภูมรินทร์ คำรื่น, พันจ่าอากาศเอก ธเนศ ชูชื่น, จ่าอากาศเอก พิชิต ณ สุวรรณ, นาย เกรียงศักดิ์ เกียรติสงคราม, นายนิติภูมิ กุลบุตร, นาย อลงกรณ์ ฝีมือช่าง, นาย ชัยฤกษ์ งามสม, พันจ่าอากาศเอก ประกิต สโรบล, นายวิทยา สาระเกษ, นายศักดิ์ชัย ฟักเถื่อน, นาย มงคลชัย เพชรศรี และ นาย ทวีป อินทร์แก้ว
หลังการประชุม พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมฯ กล่าวว่า “สืบเนื่องจากที่สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยมีนโยบายที่จะคัดเลือก ผู้ตัดสินที่มีคุณสมบัติครบถ้วน มีความสามารถ และที่สำคัญคือมีร่างกายผ่านการทดสอบของคณะกรรมการมาทำหน้าที่โดยทางสมาคมฯ จะให้ผู้ตัดสินเหล่านี้ ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตัดสินประจำสมาคมฯ ไปทำหน้าที่ตัดสินในโตโยต้า ไทยลีก เพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ตัดสินแข่งขันกันทำหน้าที่”
“ทั้ง 12 คนที่ถูกเลือกมาถือเป็นแบบอย่างที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรม และ ศีลธรรม ก็จะได้รับผลตอบแทนจากสมาคมฯ ที่สูงกว่าผู้ตัดสินทั่วไป แต่หากผู้ตัดสินทั้ง 12 คนทำหน้าที่บกพร่องหรือได้รับการร้องเรียนจากการทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสินก็จะถูกทำโทษ ลงไปทำหน้าที่ในดิวิชั่น 2 และไต่เต้าขึ้นมาใหม่ ส่วนผู้ตัดสินคนอื่นๆ หากทำหน้าที่ได้ดีก็จะสามารถขึ้นมาแทนที่ได้ เหมือนกับการเลื่อนชั้นของสโมสรในลีก”
“นโยบายนี้ก็มาจากการที่สมาคมฯได้ไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งผู้ตัดสินเหล่านี้จะต้องพบกับบททดสอบที่เข้มกว่าผู้ตัดสินทั่วไป เช่น ผู้ตัดสินทั่วไปทดสอบร่างกายทุก 4 เดือน แต่ผู้ตัดสินสมาคมฯ อาจจะต้องตรวจร่างกาย 1 เดือนต่อครั้ง เพื่อเป็นการแก้ปัญหาแฟนบอลไม่พอใจผู้ตัดสินที่มีร่างกายไม่ผ่านการตรวจสอบ และทำหน้าที่ผิดพลาด นี่เป็นโครงการนำร่อง ถ้าสิ่งที่ผมคิดและสมาคมฯทำให้ผลตัดสินออกมาเป็นที่พอใจของแฟนบอลชาวไทย เราก็จะนำไปใช้ในฟุตบอลระดับดิวิชั่น 1 ต่อไป รวมถึงผู้ช่วยผู้ตัดสิน ซึ่งสมาคมฯจะต้องให้ค่าตอบแทนแก่ผู้ตัดสินเหล่านี้ดีกว่าเดิม และดีกว่าผู้ตัดสินทั่วๆไป ซึ่งก็จะเกิดการแข่งขัน”
“ใครได้เข้ามาตรงนี้ก็จะมีชื่อเสียง มีหน้ามีตา มีรายได้ หากเขาทำได้ไม่ดีก็จะถูกทำโทษถูกปลด เขาก็จะเสียชื่อเสียง และถูกลดรายได้ ผมต้องการสร้างมาตรฐานให้เกิดการแข่งขันให้คนทำดี ค่าตอบแทนผู้ตัดสินสมาคมฯ นั้นน่าจะอยู่ที่ประมาณ เกือบ 100,000 บาท ต่อเดือน”
“ในปีหน้าผลตอบแทนหรือเบี้ยเลี้ยงจะมีการปรับใหม่ให้สูงขึ้น เพื่อให้ผู้ตัดสินมีรายได้ดีขึ้น เพื่อไม่ให้พวกเขาไปทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง นี่คือวิธีการแก้ไขระยะยาว นอกจากนี้ยังมีการคุยเรื่องๆอื่น ทั้งเรื่องจำนวน 12 คนพอเพียงหรือไม่ เพราะโตโยต้า ไทยลีก มี 9 คู่ ต้องใช้ผู้ตัดสิน 9 คน 3 คนก็จะว่าง ก็อาจจะถูกส่งไปเป็นผู้ตัดสินที่ 4 และอีกหกคู่จะทำอย่างไร ในกรณีที่ผู้ตัดสินที่ 1 บาดเจ็บ ซึ่งก็อาจจะพิจารณาเพิ่มเป็น 15-18 คน ก็เป็นไปได้ ซึ่งต้องพยายามทำให้ผุ้ตัดสินทุกคนอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน”
“ส่วนเรื่องอายุของผู้ตัดสิน ตามกฏฟีฟ่า ต้องอายุไม่เกิน 45 ปี แต่ล่าสุดได้มีการเปลี่ยนกฏใหม่ ว่าหากผู้ตัดสินจะอายุเกินเกณฑ์ แต่ผ่านการทดสอบร่างกายตามกฏ ก็สามารถลงทำหน้าที่ได้ ซึ่งเป็นเหตุหนึ่งที่สมาคมฯ ต้องเข้ามาดูแลตรงนี้ เพราะแฟนบอลหลายคนก็ยังสงสัย ก็ต้องชี้แจงเรื่องกฏของฟีฟ่าตรงนี้ด้วย”
“เราจะเริ่มใช้ในเกมโตโยต้า ไทยลีกวันที่ 10 กันยายนนี้ทันที เพราะได้มีการประชุมแล้ว โดยทั้ง 12 ท่านที่ถูกเลือกนั้นมาจากการโหวตของ 18 สโมสรในโตโยต้า ไทยลีก ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกของสมาคมฯแน่นอน”