ข่าวฟุตบอล ไทยลีกสมาคมฯ ประชุมโครงร่างฟุตบอล สเตเดียม ภายใต้ระบบ “Ecosystem”
ฟุตบอล สเตเดียม
สมาคมฯ
ฟุตบอล สเตเดียม

สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ จัดการประชุม ร่วมกับบริษัทนิติบุคคลที่สนใจเสนอตัวออกแบบโครงร่างฟุตบอล สเตเดียม เพื่อแจ้งถึงแผนงานและคุณสมบัติที่ต้องการ

สำหรับการเขียนแผน โครงร่างฟุตบอล สเตเดียม ถือเป็นหนึ่งในแผนงานของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ที่จะเกิดขึ้นในปี 2019

โดยก่อนหน้านี้ ในสองปีที่ผ่านมา สมาคมฯ สามารถทำได้ตามแผนพัฒนา FIFA Forward ที่เสนอไปยังสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ อาทิเช่น การก่อสร้างที่ทำการสมาคมฯ ในปี 2016, การวางแผนพัฒนาฟุตบอลระยะยาว 20 ปี ในปี 2017 และการก่อสร้างศูนย์ศักยภาพกีฬาฟุตบอลภายในมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เป็นต้น

ซึ่งสมาคมฟุตบอลฯ เตรียมสร้างสนามฟุตบอลแห่งใหม่ที่ไม่มีลู่วิ่งกั้น ความจุ 50,000 ที่นั่ง ตามมาตรฐานฟีฟ่า พร้อมจะออกแบบให้เป็นสนามกีฬาอเนกประสงค์เพื่อรองรับการจัดกิจกรรมอื่นๆอีกด้วย

โดยรูปแบบการดำเนินการและการระดมทุนจากสาธารณะเหมือนกับสนามซูอิตะ สเตเดียม ของสโมสรกัมบะ โอซาก้า ในเจลีกประเทศญี่ปุ่น จากนั้นจะนำแผนก่อสร้างเสนอต่อรัฐบาลเพื่อขอความอนุเคราะห์เรื่องที่ดินก่อสร้างต่อไป

สำหรับบริเวณรอบสนามจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆอย่างครบครัน เช่น ห้างสรรพสินค้า , คอมมูนิตี้มอลล์ และที่พักผ่อนของประชาชนทั่วไป 

ฟุตบอล สเตเดียมฟุตบอล สเตเดียม

โดยการประชุมในครั้งนี้นำโดย คุณ พาทิศ ศุภะพงษ์ รองเลขาธิการฝ่ายต่างประเทศ และ โฆษกสมาคมฯ พร้อมด้วย คุณ เอกพล พลนาวี ผู้จัดการฝ่ายจัดการแข่งขัน, คุณ ปิยะภัทร สโรบล เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างประเทศ และ คุณ กิตติ วงศ์สถาพรชัย เจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดการแข่งขัน รวมถึงตัวแทนบริษัทที่เสนอตัวออกแบบโครงร่างฟุตบอล สเตเดียม อีกจำนวนสิบบริษัท

ภายหลังการประชุม คุณ พาทิศ ศุภะพงษ์ รองเลขาธิการฝ่ายต่างประเทศ และ โฆษกสมาคมฯ กล่าวว่า

“การประชุมครั้งนี้เป็นเพียงแค่ขั้นตอนแรก ในการพูดคุยกับบริษัทนิติบุคคลที่สนใจจะร่วมออกแบบโครงร่างของฟุตบอล สเตเดียม ซึ่งที่สมาคมฯ มองถึงคือเรื่องของปัญหาและเทคโนโลยีในปัจจุบัน

ที่ต้องขอไอเดียจากคนในวงการสถาปนิก ว่าตอนนี้วิวัฒนาการเรื่องการก่อสร้างนั้นเป็นอย่างไร การทำงานร่วมกัน และให้แต่ละบริษัท ได้กลับไปศึกษาระเบียบเรื่องของสนามที่ฟีฟ่าหรือเอเอฟซี กำหนดไว้ เพื่อให้อยู่ในกรอบของระเบียบข้อบังคับในการจัดการแข่งขันฟุตบอลนานาชาติทั้งในปัจจุบันและอนาคต”

“อีกสิ่งสำคัญคือ ฟุตบอล สเตเดียม แห่งนี้จะต้องปรับใช้งานได้ในช่วงที่ไม่มีการแข่งขัน เช่น การจัดพื้นที่เชิงพาณิชย์ หรือการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่จะเข้ามาเติมเต็มในช่วงที่ไม่ได้จัดการแข่งขัน ซึ่งเราจะมีการประชุมอีกครั้งในช่วงเดือนหน้า”

“สนามในจินตนาการตอนนี้น่าจะเป็นสนามที่เหมาะสมกับการบริหารจัดการ ทั้งจัดแข่งขัน กิจกรรม และการดูแลรักษา หรือที่เรียกว่า “Ecosystem” ในเชิงการบริหารจัดการสถานที่ หรือการเกื้อหนุนกันของทรัพยากรโดยรอบ ทั้งในรูปแบบของสนาม กิจกรรม พื้นที่พาณิชย์และสิ่งอำนวยความสะดวกรอบๆ”

“เราไม่ได้สร้างสนามกีฬาแห่งชาติ แต่เราต้องการสร้างฟุตบอล สเตเดียม ที่พร้อมรองรับการแข่งขันฟุตบอลระดับนานาชาติในอนาคตได้ เราต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่พร้อม และเหมาะสมกับประเทศไทย”

“การประชุมนี้เป็นแค่ขั้นตอนแรกเท่านั้น ชั้นตอนแรกที่เราต้องทำให้เสร็จคือเรื่องโครงร่าง เมื่อเรามีโครงร่างที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว เราจะนำเสนอโครงร่างทั้งหมดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการขั้นต่อไป”

ขณะที่ คุณ กรวีร์ ปริศนานันทกุล รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดการแข่งขัน บริษัท ไทยลีก จำกัด ก็ได้กล่าวเสริมในงาน โตโยต้า มีต เดอะ วอร์ริเออร์ ว่า “ถือเป็นข่าวดีของแฟนบอล ในสัปดาห์ที่ผ่านมา

นำโดยท่านนายกสมาคมฯ พล.ต.อ. ดร. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ที่ได้นำเรื่องการเขียนโครงร่างฟุตบอลสเตเดียม เข้าที่ประชุมสภากรรมการ และก็ได้รับอนุมัติเรื่องการหาบริษัทวางโครงร่างสนามฟุตบอล

ซึ่งเป็นความตั้งใจของสมาคมฯ ที่ต้องการจะเห็นสนามในอนาคต วันนี้ถือเป็นขั้นตอนแรกเท่านั้น คือเชิญผู้เชี่ยวชาญมาร่วมปรึกษา เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการจัดการแข่งขันฟุตบอลลระดับนานาชาติในอนาคตต่อไป”