บอลโลกวิทยา กล่าวถึงสัมมนาประธานเทคนิคที่ทางสมาคมฯฟีฟ่าจัดขึ้น
วิทยา เลาหกุล
วิทยา เลาหกุล

วิทยา เลาหกุล อุปนายกฝ่ายพัฒนาเทคนิคสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ กล่าวถึงการสัมมนาประธานเทคนิคว่าด้วยเรื่องกลยุทธ์การบริหารงานและการจัดการ ที่ทางสมาคมฯ และ สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ร่วมกันจัดขึ้น

การสัมมนาดังกล่าวจัดขึ้นที่โรงแรม โนโวเทล สยามสแควร์ ระหว่างวันที่ 24-26 เมษายน 2561 โดยมีประธานเทคนิคจาก 8 ประเทศ อันประกอบไปด้วย ไทย, สิงคโปร์, ติมอร์ เลสเต, สปป.ลาว, เมียนมา, ออสเตรเลีย และ กัมพูชา

“การสัมมนาครั้งนี้ก็ถือเป็นหลักสูตรต่อเนื่อง ซึ่งผมมองว่าคนที่ได้เปรียบคือคนที่ดำรงตำแหน่งประธานเทคนิคแล้วได้ทำงานในสมาคมฟุตบอลในประเทศนั้นๆ แบบต่อเนื่อง เท่าที่เห็นคือการประชุมครั้งนี้ หลายประเทศมีการเปลี่ยนแปลงประธานเทคนิคมากมาย ซึ่งตามหลักของฟีฟ่าแล้วเขามีวัตถุประสงค์ที่อยากให้ประธานเทคนิคดำรงตำแหน่งระยะยาว และเป็นคนของประเทศตัวเอง อย่างเช่นเมียนมา ที่เขาใช้ประธานเทคนิคคนเดิมมาอย่างต่อเนื่อง”

“การสัมมนาครั้งนี้ วัตถุประสงค์หลักคือการยกมาตรฐานฟุตบอลในแต่ละประเทศให้มีระดับสูงยิ่งขึ้น ฟีฟ่าเขาทำให้เราเข้าใจว่า ฝ่ายเทคนิคถือเป็นฝ่ายหนึ่งที่สำคัญมากในสมาคมฟุตบอลแต่ละชาติ สิ่งสำคัญคือเราต้องมีหน่วยงานที่แข็งแกร่งขึ้นไปเรื่อยๆ และจำนวนคนที่เพียงพอ เราถึงจะก้าวไปอยู่ระดับเดียวกับชาติมหาอำนาจฟุตบอลของเอเชียได้”

“สิ่งสำคัญที่สุดคือทางฟีฟ่า พยายามจัดลำดับความสำคัญของหน้าที่ฝ่ายเทคนิค ว่าสิ่งไหนสำคัญสุด สิ่งไหนควรลงมือทำก่อน เพราะการเจรจากับฝ่ายต่างๆ ภายในองค์กร นอกจากเรื่องในสนามแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างก็คือการบริหารจัดการที่จะต้องมีรูปแบบที่ชัดเจนและยั่งยืน”

“นอกจากการสื่อสารภายในองค์กรแล้ว การสื่อสารกับภายนอกก็สำคัญ ทั้งการกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาก็ถือเป็นหน่วยงานที่สำคัญ เพื่อหาแนวทางร่วมมือในการขอรับการสนับสนุน หรือการจัดการต่างๆ ในการจัดกิจกรรม อาทิ ฟุตบอลรากหญ้า, การสร้างโค้ชเยาวชน ซึ่งตลอดช่วงที่ผ่านมา เราก็ให้ความสำคัญตรงนี้”

“การพัฒนาสิ่งเหล่านี้ กว่าจะเป็นระบบหรือรูปธรรม เราก็ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร มันไม่สามารถทำได้เพียงแค่ปีสองปี แต่เราต้องใช้เวลามากถึง 6-8 ปี เพื่อให้ทุกอย่างเป็นระบบมากขึ้น ตอนนี้เรามีปรัชญา โมเดลไทยแลนด์เวย์แล้ว เราก็ต้องพยายามโมเดลหรือปรัชญากระจายไปทุกสโมสร, ทุกอคาเดมี และอธิบายสิ่งที่เราต้องการให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน ที่ผ่านมาเราไม่มีโมเดลหรือปรัชญาตรงนี้ นั่นคือสิ่งสำคัญครับ”

ขอขอบคุณ : Fair