วิลล์ เฟเออร์ นักข่าวชาวอเมริกันของนิตยสาร South East Asia Globe ได้อธิบายถึงวิวัฒนาการฟุตบอลลีกของไทย พร้อมกับยกให้เป็นลีกที่มีผู้ชมมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยคอลัมนิสต์จากมิชิแกน ได้เล่าถึงประวัติความเป็นมาของฟุตบอลในประเทศไทย ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้ง สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ขึ้น
และได้เริ่มมีฟุตบอลถ้วยพระราชทาน ประเภท ก, ข, ค และ ง จนกระทั่งเริ่มก่อตั้งเป็นลีก
ซึ่งบทความดังกล่าววิเคราะห์ว่า การที่ลีกของไทยเริ่มกระจายตัวจากเมืองหลวงไปสู่ภูมิภาคและแยกตัวออกมาบริหารในรูปแบบของบริษัทเอกชน เป็นจุดเริ่มต้นให้เกมลูกหนังภายในประเทศบูมขึ้นมา
โดย ศจ. ไซม่อน แชดวิค ศาสตราจารย์ด้านธุรกิจกีฬาแห่งมหาวิทยาลัยซัลฟอร์ด ให้สัมภาษณ์กับ วิลล์ เฟเออร์ ว่า
“ความเห็นส่วนตัวสำหรับผมแล้ว แน่นอนว่าทีมโปรดก็คือทีมในบ้านเกิด มันคือทีมที่พ่อและปู่ของผมพาผมไปดูเมื่อครั้งยังเด็ก ผมคิดว่าที่นั่นน่าจะกำลังปลูกฝังวัฒนธรรมอย่างนั้นอยู่”
“มันคือความผูกพัน สำหรับผู้คนและทีมส่วนใหญ่แล้ว ทีมคือตัวแทนของภูมิลำเนาและความเป็นท้องถิ่นของพวกเขา เพราะแน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่มาจากกรุงเทพฯ
ดังนั้นถ้าทีมออกไปสู่ต่างจังหวัด มันก็จะกลายเป็นสัญลักษณ์ของแฟนบอลในเวลาต่อมาว่าพวกเขามาจากไหน ซึ่งมันจะพัฒนาความใกล้ชิดขึ้น จนสร้างวัฒนธรรมที่แข็งแกร่งได้”
ซึ่ง เบนจามิน ตัน รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายควบคุมการแข่งขัน บริษัท ไทยลีก จำกัด ก็ได้ชี้ว่า ทางสมาคมฯและตัวลีกเองพยายามสร้างกระแสโดยมีแฟนบอลเป็นหัวใจสำคัญ
“เราได้นำตัวอย่างมาจากยุโรป, เกาหลี และญี่ปุ่น ผมคิดว่านี่เป็นแค่ก้าวสำคัญก้าวแรกเพื่อทำให้แน่ใจว่า แฟนๆคือศูนย์กลาง”
“เรากำลังพยายามโน้มน้าวให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายเห็นว่าทุกคนสามารถพาฟุตบอลไทยให้เดินหน้าไปได้”
โดยในตอนนี้หนึ่งในรายได้หลักมาจากค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดของ ทรูวิชั่นส์ ซึ่งได้สิทธิ์มาตั้งแต่ปี 2011 และมูลค่าก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดที่เซ็นสัญญาจนถึงปี 2020 ก็มีมูลค่า 4,200 ล้านบาท
ซึ่งถือว่ามากกว่า 2 เท่าของดีลครั้งก่อน
“2 ดิวิชั่นบนสุดของไทยลีกมีถ่ายทอดสดทุกนัด ดังนั้นคุณจะได้ชมถึง 18 แมตช์ในสุดสัปดาห์เดียว เราจึงมีการจัดเวลาเตะให้เหลื่อมกันเพื่อทำให้แน่ใจว่าแมตช์ต่างๆ
มีการถ่ายทอดสด ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก” ตันกล่าวเสริม
ซึ่งจุดนี้ วิลล์ เฟเออร์ มองว่าตรงกันข้ามกับแทบทุกประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อหลายลีกต้องจ่ายเงินกับทางสถานีโทรทัศน์ให้ถ่ายทอดเพื่อกระตุ้นความสนใจ
โดยทาง เบนจามิน ตัน ก็เสริมว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่แค่การนำรายได้ทางโทรทัศน์ก้อนโตเข้ามาเท่านั้น แต่ยังเป็นการจัดสรรรายรับที่ได้มาอีกด้วย
“โครงสร้างที่ทำให้เกิดการแข่งขันจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งลีก ไม่ใช่แค่สโมสรใหญ่เท่านั้น”
แต่นอกจากจะมีเวลาออกอากาศแล้ว ตันก็ชี้ว่าความสำเร็จอีกอย่างสำหรับไทยลีกก็คือการมีประเด็นให้แฟนๆ ได้พูดถึงกันต่อหลังจบเกมการแข่งขัน อันเป็นการสร้างวัฒนธรรมฟุตบอลทางอ้อม
“เรามีช่องฟุตบอลที่พูดถึงควันหลงในเกมการแข่งขันที่สร้างความตื่นเต้นให้กับแฟนบอล เป็นการดึงดูดความสนใจให้กับลีก”
ขณะเดียวกัน สุรชัย จตุรภัทรพงศ์ อดีตกองกลางทีมชาติไทยที่เคยเล่นในลีกสิงคโปร์และตอนนี้รับหน้าที่เฮดโค้ชของบางกอกกล๊าสก็ให้ความเห็นว่า
แต่ละสโมสรก็มีกลยุทธ์ในการสร้างฐานแฟนบอลของตัวเองด้วยเช่นกัน
“คนไทยไม่ได้มาสนามฟุตบอลเพื่อชมเกมเท่านั้น ถ้าคุณไม่มีการโฆษณาหรือทำกิจกรรมต่างๆกับพวกเขา เขาก็จะไม่มากัน”
“เราพยายามที่จะจัดกิจกรรมต่างๆ อย่างคลีนิคฟุตบอลและพยายามรายงานความเคลื่อนไหวของทีม เราพยายามสร้างชุมชนขึ้นมา ซึ่งที่สิงคโปร์ไม่มีแบบนี้”
และทางด้านของ ศจ. ไซม่อน แชดวิค ก็วิเคราะห์ว่ามีอีกปัจจัยหนึ่งที่เหมือนกับทุกๆลีกที่ประสบความสำเร็จ นั่นก็คือบรรดานักเตะซูเปอร์สตาร์
“ฮีโร่และไอดอลถือเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่อกระบวนการด้านพฤติกรรมและจิตวิทยา ซึ่งมีส่วนทำให้แฟนบอลตัดสินใจที่จะเข้าหรือไม่เข้าไปชมเกม แม้แต่การซื้อของที่ระลึก” แชดวิคกล่าว
โดยในเมืองไทยนั้น วิลล์มองว่าบรรดานักเตะชื่อดังเข้าถึงง่ายกว่าในลีกยุโรปหรืออเมริกาใต้ จากคำบอกเล่าของ อันเดรส ตูนเญซ ปราการหลังของบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด
โดยนักเตะชาวเวเนซุเอล่าเผยว่าแฟนๆสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับเหล่านักเตะชั้นยอดของลีกได้แม้แต่ในช่วงอาหารเย็นหลังจบแมตช์ ไปจนถึงงานปีใหม่ของสโมสรเลยทีเดียว
ซึ่งตัวผู้เขียนได้สรุปว่า กุญแจแห่งความสำเร็จของฟุตบอลไทยนั้น มาจากการสร้างวัฒนธรรมลูกหนัง โดยยึดแฟนบอลเป็นหลักนั่นเอง
เครดิต : Thai League
บทความทั้งหมด : South East Asia Globe
Big Thank : Thai League ,South East Asia Globe