ข่าวฟุตบอล ไทยลีกบวกสิบบอลไทย น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ พ่อหลวง ร.9 ต่อฟุตบอลไทย
โพสต์รูปภาพ
บวกสิบบอลไทย
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

บวกสิบบอลไทย น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ พ่อหลวง ร.9 ต่อฟุตบอลไทย

เนื่องในวันที่ 13 ตุลาคม เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร

ทางทีมงาน บวกสิบ และ บวกสิบบอลไทย ทุกคน ขอน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ต่อวงการฟุตบอลไทย

ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านกีฬา โดยได้รับพระสมญานาม “พระมหากษัตริย์นักกีฬา” อันเนื่องจากขณะทรงศึกษาอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พระองค์ทรงสนพระทัยและทรงโปรดกีฬาตั้งแต่พระเยาว์

ซึ่งในส่วนของกีฬาฟุตบอลนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระกรุณาธิคุณส่งเสริมและสนับสนุนกีฬาฟุตบอลเป็นอย่างยิ่ง จนกล่าวกันว่าเป็นยุครุ่งเรืองของวงการฟุตบอลเมืองไทย

สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ถือเป็นหนึ่งในสมาคมกีฬาที่อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช”

ความตอนหนึ่งในหนังสือ “พระมหากษัตริย์นักกีฬา พระราชาแห่งฟุตบอลสยาม” อ้างคำกล่าวของ พล.อ.ประเทียบ เทศวิศาล อดีตสภากรรมการบริหารสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว)

of4l3tkwwbwbZa42iwXooj1ae06tpUIqzaTJS5ko

ที่กล่าวว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงติดตามผลการแข่งขันฟุตบอลของทีมชาติไทยอยู่เสมอด้วยวิทยุคลื่นสั้น ทรงมีพระบรมราโชวาทเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับการบริหาร

ฝึกซ้อมและวิธีการเล่นของนักฟุตบอลอย่างน้ำใจนักกีฬา ทรงมีความเข้าพระราชหฤทัยศาสตร์และศิลป์ของกีฬาฟุตบอลอย่างลึกซึ้ง

แม้แต่การเสด็จฯ แปรพระราชฐานประทับแรม ณ วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จะทอดพระเนตรการแข่งขันกีฬาภาค 7 (จ.นครปฐม จ.ราชบุรี จ.เพชรบุรี และ จ.ประจวบคีรีขันธ์)

และฟุตบอลคู่ชิงชนะเลิศปีพ.ศ. 2499 เป็นการแข่งขันระหว่างทีม จ.ประจวบคีรีขันธ์ กับทีม จ.นครปฐม ปรากฏว่ามีฝนตกลงมาอย่างหนัก

พระองค์ก็ยังทอดพระเนตรการแข่งขันฟุตบอลจนจบ โดยพระราชทานถ้วยชนะเลิศและพวงมาลัยแก่นักกีฬาตามประเพณีแทบทุกครั้ง ยังความปลาบปลื้มแก่นักฟุตบอลเหล่านั้นอย่างไม่ลืมเลือนตราบจนทุกวันนี้

S86167498

พล.ต.สำเริง ไชยยงค์ หรือชื่อเดิม สำรวย ไชยยงค์ อดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทย ชุดประวัติศาสตร์เข้าแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 16 ที่นครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย

เมื่อปี พ.ศ.2499 นับเป็นนักกีฬาคนแรกที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงโปรดเกล้าฯพระราชทานทุนส่วนพระองค์

ให้เดินทางไปศึกษาวิชาการพลศึกษาชั้นสูง ณ สปอร์ตซูเล่ เมืองโคโลญจน์ ประเทศเยอรมนีตะวันตก จนสำเร็จหลักสูตรผู้ฝึกสอนฟุตบอลอาชีพชั้นสูง

หลังจากนั้น พล.ต.สำเริง ซึ่งเคยเป็นอดีตตำนานนักเตะทีมชาติไทย กลายเป็นยอดโค้ชที่เก่งที่สุดคนหนึ่งของประเทศ

เมื่อพา สโมสรธนาคารกรุงเทพ คว้าแชมป์ ถ้วย ข 1 สมัย และแชมป์ ถ้วย ก อีก 2 สมัย ก่อนกลายเป็นโค้ชทีมเยาวชนฟุตบอลของไทย ในเวลาต่อมา

อีกทั้ง พล.ต.สำเริง ยังนำความรู้มาถ่ายทอดให้เยาวชนไทย และได้ถวายงานสอนทักษะฟุตบอลแด่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

เมื่อขณะทรงเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ ทรงศึกษาอยู่ที่โรงเรียนจิตรลดา โดยทรงมีพระปรีชาสามารถจนได้รับพระสมญาว่า “เจ้าฟ้าดาราลูกหนัง”

ถ้วยพระราชทาน ฟุตบอล คิงส์ คัพ

ศึกฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน ที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย ก็ได้เริ่มต้นขึ้นจากพระองค์ท่าน เมื่อปี พ.ศ. 2511

ทัวร์นาเมนต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการชิงถ้วยพระราชทานจาก “พ่ออยู่หัว” เพราะขุนพลนักฟุตบอลทีมชาติไทย ที่ผ่านการคัดเลือกว่าเป็นกลุ่มนักเตะที่ดีที่สุดของประเทศ

จะได้ลงฟาดแข้งเพื่อชิงถ้วยรางวัลใบสำคัญกับผู้มาเยือนจากชาติต่าง ๆ โดยแข่งครั้งแรกในปี พ.ศ. 2511 และจัดขึ้นทุกปี มีเว้นบ้างในบางโอกาส

โดยทีมที่ได้แชมป์มากที่สุดหนีไม่พ้น “ช้างศึก” ที่สู้ถวายหัวคว้าถ้วยพระราชทานอันทรงเกียรติมาได้ถึง 15 สมัย

S86167497

ฟุตบอล พระราชทานถ้วย ก. และ ข.

นี่คือ ทัวร์นาเมนต์ที่เก่าแก่ที่สุดแห่งวงการลูกหนังเมืองไทย เปรียบได้กับการแข่งขันฟุตบอลอังกฤษ แชริตี ชิลด์ ระหว่างแชมป์ลีกสูงสุด เจอแชมป์เอฟเอคัพ

โดยสำหรับเมืองไทยแบ่งเป็นสองประเภทคือถ้วย ก. (ถ้วยใหญ่) สำหรับทีมระดับอาชีพ และ ถ้วย ข. (ถ้วยน้อย) สำหรับทีมระดับสมัครเล่น

ซึ่งการแข่งขันถ้วยพระราชทาน 2 รายการนี้ เริ่มขึ้นในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ปี พ.ศ.2459

ก่อนที่ ปี พ.ศ. 2504 “ในหลวง” จะทรงโปรดเกล้าฯ เพิ่มมาอีก 2 รายการคือ ถ้วย ค. กับ ถ้วย ง. ซึ่งเป็นระดับรองลงมา และแข่งมาจนถึงปัจจุบัน

“ในหลวงรัชกาลที่ 9” ทรงติดตามผลงานของนักฟุตบอลไทยอยู่เนืองนิตย์ตลอดมา ดั่งหลายเหตุการณ์ที่ปรากฏและเป็นสิ่งที่พสกนิกรคนไทยและคนฟุตบอลไทยปลาบปลื้ม

เช่นการแข่งขันฟุตบอลกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 18 รอบชิงชนะเลิศ วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2537 ณ สนามสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ทีมชาติไทยพบทีมชาติเวียดนาม

ก่อนลงสนามทีมชาติไทยต้องใส่ชุดสีน้ำเงินเป็นนัดแรกของการแข่งขันจนเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่สุดท้ายแล้วทีมชาติไทยชนะ 4-0

แต่สิ่งที่นำมาสู่ความปลื้มปีติของนักฟุตบอลและวงการฟุตบอลไทย คือ พระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ความว่า

“…สีเสื้อนั้นไม่ใช่สิ่งสำคัญ ถึงใส่สีน้ำเงินก็ชนะได้ ถ้าหากไทยเก่งพอ มีความสามารถและมีความพร้อมกว่าคู่ต่อสู้…”

p199og8kpvu1i1dvp1pesjt71fqt5500x333

ส่วน เหตุการณ์ล่าสุดที่นำมาซึ่งความปลาบปลื้มแก่ชาวไทยคือการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน “เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2014” นัดชิงชนะเลิศ นัดที่ 2

ที่สนามกีฬาแห่งชาติ “บูกิต จาลีล” ประเทศมาเลเซีย ทีมชาติไทยตกอยู่สถานการณ์เป็นรองตามหลังอยู่ 0-3 แต่ภายหลังกลับมายิง 2 ประตูแพ้ 2-3

รวมสกอร์ 2 นัดทีมชาติไทยชนะ 4-3 คว้าแชมป์มาครอง โดยภายหลังจบเกม นายเกษม จริยวัฒน์วงศ์ ผู้จัดการทีมชาติไทยเปิดเผยว่า

“ผมได้รับข้อความจากราชเลขาฯ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่โทรศัพท์เข้ามาหาตั้งแต่ครึ่งแรก แต่ไม่ได้รับ ทำให้ราชเลขาฯ

ได้ส่งเบอร์ของท่านให้ติดต่อกลับไป ซึ่งในระหว่างที่ติดต่อกลับ มือไม้สั่นไปหมดจน นพ.ชนินทร์ ล่ำซำ แพทย์ประจำทีม ต้องเข้ามาช่วยหาเบอร์

เพราะมีเบอร์ติดต่อเข้ามาเยอะมาก ก่อนที่ผมจะติดต่อกลับไป พร้อมกับได้รับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากราชเลขาฯ ว่า

“ขอให้กำลังใจกับผู้เล่นทุกคน ขออวยพรให้มีชัยชนะ อย่าย่อท้อแม้ว่าจะตามอยู่ 0-3 ซึ่งในหลวงได้ทอดพระเนตรเกมนี้อยู่”  

หลังจากวางสายโทรศัพท์ไม่นาน ทีมชาติไทยกลับมายิงได้ 2 ประตูทันที ทำให้คิดถึงพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงห่วงใยทีมฟุตบอลทีมชาติไทยในเกมนี้” 

“ในหลวงรัชกาลที่ 9” คือศูนย์รวมใจของไทยทั้งชาติและเป็นกำลังใจที่เกินจะหาคำใดมาบรรยายได้ นั่นคือเหตุผลที่นักกีฬา

และนักฟุตบอลไทยได้เชิญพระบรมฉายาลักษณ์ของ “ในหลวงรัชกาลที่ 9” ขึ้นเทิดทูนตั้งแต่ก่อนแข่งขันและหลังการแข่งขันดั่งภาพที่ปรากฏต่อชาวโลกในทุกทัวร์นาเมนต์ของการแข่งขัน

ปวงข้าพระพุทธเจ้าทีมงาน บวกสิบ และ บวกสิบบอลไทย ขอเป็นข้ารองพระบาท และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณตราบนิจนิรันดร์

“เสด็จสู่ฟากฟ้าสุราลัย พระมหากรุณาธิคุณจารึกในใจไทยชั่วกาล…”

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้า ทีมงาน บวกสิบ และ บวกสิบบอลไทย

 

ขอบคุณที่มาเรื่องและภาพจาก : th.wikipedia.org, www.wikipedia.com,