ข่าวฟุตบอลทำไมฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ จึงถูกชาวต่างชาติมองในแง่ลบ ?
buaksib sport news
ฟุตบอลโลก 2022

เราลองมาหาเหตุผลกันว่า ทำไมฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ จึงถูกชาวต่างชาติ วิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบ และในทางตรงกันข้าม ฟุตบอลโลกครั้งนี้ มีเรื่องราวดีๆบ้างหรือไม่ ?


“ฟุตบอลโลกที่กาตาร์คือความผิดพลาด” นี่คือคำพูดของ เซปป์ แบล็ตเตอร์ อดีตประธานฟีฟ่า ที่ออกมากล่าวกับ หนังสือพิมพ์ Tages Anzeiger ก่อนฟุตบอลโลก 2022 จะเริ่มขึ้นไม่กี่วัน


ย้อนกลับไป 2 ธันวาคม 2010 คณะกรรมการ ‘FIFA Executive’ จำนวน 22 คนเข้าร่วมการประชุมเพื่อหาตัวแทนเจ้าภาพฟุตบอลโลก โดยหนึ่งในนั้นมี วรวีร์ มะกูดี อดีตนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ที่เข้าร่วมการประชุมอยู่ด้วย
 


ในจำนวนคณะกรรมการ 22 คนที่เข้าประชุมในวันนั้น มีถึง 17 คนที่ต้องมลทินในภายหลัง เช่น ถูกดำเนินคดีเหมือน เซปป์ แบลตเตอร์ และ มิเชล พลาตินี อดีตประธานสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (UEFA) หรือถูกลงโทษแบนห้ามข้องเกี่ยวกับเกมฟุตบอล อย่างเช่น นาย วรวีร์ มะกูดี


วาระการประชุมในวันนั้นคือ การโหวตเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2018 และ 2022 ซึ่งต่อมาถูกประนามจากสื่อทั่วโลกว่า เป็นการโหวตที่มีการ ‘ล็อบบี้’ กันเอาไว้เรียบร้อยแล้ว ว่าชาติใดจะได้เป็นเจ้าภาพ


เซปป์ แบล็ตเตอร์ อดีตประธานฟีฟ่าในตอนนั้น ออกมากล่าวภายหลังด้วยตัวเองว่า “มีการตกลงกันว่าเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2018 จะเป็นรัสเซีย และในปี 2022 สหรัฐอเมริกาจะได้เป็นเจ้าภาพ แต่แล้วทุกอย่างก็เกิดการเปลี่ยนแปลงในนาทีสุดท้าย คือกาตาร์ได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022”


“กาตาร์เป็นประเทศที่เล็กเกินไป เกมฟุตบอลและฟุตบอลโลกใหญ่เกินไปสำหรับที่นี่ มันเป็นการเลือกที่เลวร้าย และผมก็ต้องรับผิดชอบในฐานะประธานฟีฟ่า”


อย่างไรก็ตามแม้เขาจะออกมากล่าวยอมรับ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ฟุตบอลโลกที่กาตาร์จึงดำเนินการต่อไป ภายใต้ข้อจำกัดและกฎหมายต่างๆมากมาย เช่น กฎหมายความสัมพันธ์ระหว่างคนรักเพศเดียวกัน (LGBTQ ) 


พฤติกรรมของการเป็นคนรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และ ผิดศีลธรรมตามกฎหมายชารีอะห์ของศาสนาอิสลาม การลงโทษมีทั้งการปรับ, การจำคุกสูงสุด 7 ปี ไปจนถึงการประหารชีวิตด้วยการปาหินใส่ และรัฐบาลกาตาร์ยืนยัน จะไม่แก้กฎหมายเกี่ยวกับการรักเพศเดียวกัน และได้ขอให้ผู้เดินทางเยือนกาตาร์
“เคารพในวัฒนธรรมของเรา”


โดยก่อนจะเริ่มแข่งขันฟุตบอลโลกได้ไม่นาน คาลิด ซาลมาน หนึ่งในทูตของการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ยังได้ออกมาพูดเรื่องความกังวล ถึงกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน (LGBTQ ) ว่า “
กลัวลูกหลานชาวกาตาร์อาจจะได้เห็นเกย์ รวมถึงได้เรียนรู้บางอย่างที่ไม่ดีงามจากพวกเขา” ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้ชาวต่างชาติ มองฟุตบอลโลกครั้งนี้ในแง่ลบมากยิ่งขึ้น

รวมไปถึงกฏหมายการห้ามดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณการแข่งขัน ยิ่งทำให้แฟนบอลจากทั่วโลกเซ็งไปตามๆกัน


กาตาร์ประกาศ 2 วันก่อนการแข่งขันว่า จะไม่อนุญาตให้มีการขายเบียร์ตามสนามฟุตบอลต่าง ๆ

ปัจจุบันแอลกอฮอล์จะหาซื้อได้ตามพื้นที่ของแฟนบอลที่กำหนดไว้ และตามบาร์ของโรงแรมหรูเท่านั้น โดยมีราคาประมาณ 10-12 ปอนด์ (ราว 425-510 บาท) ต่อกระป๋อง ส่วนเบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ผสม จะหาซื้อได้ตามสนามต่าง ๆ


อย่างไรก็ตามแม้แฟนบอลหลายคน จะไม่เห็นด้วยกับกฎหมายการห้ามขายแอลกอฮอล์บริเวณสนามแข่งขัน แต่ก็ยังมีแฟนบอลผู้หญิงหลายคน ชื่นชอบกับสิ่งนี้ และย้ำว่านี่คือข้อดีของการไม่มีสิ่งมึนเมา


“เอลลี่ มอร์ริสัน” แฟนบอลหญิงชาวอังกฤษวัย 19 ปี กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ส ว่า


“ฉันคิดว่าที่นี่จะอันตรายมากสำหรับผู้หญิง ไม่คิดเลยค่ะว่ามันจะปลอดภัยขนาดนี้ ในฐานะที่เป็นแฟนบอลนักท่องเที่ยวหญิง ฉันบอกได้เลยว่าฉันรู้สึกว่าที่นี่ปลอดภัยมาก เพราะที่นี่เป็นสังคมแบบอนุรักษ์นิยม ฉันคิดว่าแอลกอฮอล์มีส่วนช่วยให้บรรยากาศไม่เป็นมิตรมากกว่า เช่น การผิวปากแซว และการล่วงละเมิดทางเพศ”


“มันแตกต่างมากๆ แบบนี้มันก็รู้สึกสบายใจดี เพราะเหมือนได้อยู่ในบรรยากาศที่เป็นมิตรกับครอบครัว กับคนทุกเพศทุกวัย บรรยากาศมันต่างกับที่อังกฤษอย่างสิ้นเชิง”


“อาเรียน่า โกลด์” แฟนบอลหญิง ชาวอาร์เจนตินาวัย 21 ปี บอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์สเช่นกัน ว่า


“ที่นี่มันดีสำหรับผู้หญิงมาก ฉันเป็นคนบ้าบอลมากและเคยคิดว่าบางทีที่กาตาร์นี่อาจจะเหมาะกับผู้ชายมากกว่า ไม่สะดวกสบายกับผู้หญิง แต่ไม่เลย ฉันรู้สึกสะดวกสบายมาก ที่นี่ยอดเยี่ยมมาก”


อย่างที่โบราณบอก เหรียญมักมี 2 ด้าน อยู่ที่ว่าเราจะเลือกมองมุมไหน ทุกอย่างมีด้านดีและไม่ดีอยู่ในตัวเอง ฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ด้วยก็เช่นกัน 

 

buaksib sport newsbuaksib sport news