รูปแบบและแนวทางการเล่นของกีฬาฟุตบอล มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา อยู่ตลอดเวลา ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
ด้วยเหตุนี้กฎและกติกา ซึ่งถูกบังคับใช้ในการแข่งขัน (Laws of the Game) จึงต้องมีการ ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง อยู่ตลอดเวลา เพื่อตอบรับกับรูปแบบการเล่นในสนาม ของกีฬาฟุตบอลในปัจจุบัน
โดยคณะผู้ร่างกฎและกติกาสากล ของสมาคมฟุตบอลนานาชาติ หรือ IFAB (International Football Association Board) ได้ออกกติกาใหม่ เพื่อลดปัญหาข้อข้องใจของการตัดสิน และปรับปรุงกฎให้เข้ากับเทคโนโลยีปัจจุบัน ที่มีบทบาทและมีส่วนช่วยในการตัดสิน เกมการแข่งขันของกีฬาฟุตบอล
และเพื่อสร้างความเข้าใจ ของกติกาในการแข่งขันที่เปลี่ยนไปอย่างถูกต้อง สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงมีความเต็มใจ ที่จะแสดงให้เห็นถึงกติกาการแข่งขัน ที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงในการแข่งขันไทยลีก ช่วงเลกสอง ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม เป็นต้นไป
โดยกฎและกติกาฟุตบอลที่เปลี่ยนไป มีดังต่อไปนี้
กติกาข้อที่ 3 : ผู้เล่น
– การเปลี่ยนตัวออกจากสนาม ผู้เล่นต้องออกจากสนาม ด้วยการเดินออกจากสนาม ในฝั่งที่ใกล้ที่สุด ไม่จำเป็นต้องเดินมาเปลี่ยนตัว ณ เส้นกึ่งกลางสนาม บริเวณจุดยืนของผู้ตัดสินที่ 4
หากผู้เล่นปฏิเสธจะออกจากสนาม ให้ดำเนินการแข่งขันต่อไปทันที
กติกาข้อที่ 4 : อุปกรณ์ของผู้เล่น
– ผู้เล่นที่ใส่เสื้อด้านใน ต้องใส่เสื้อสีเดียว กับเสื้อเเข่งขันเท่านั้น
กติกาข้อที่ 5 : ผู้ตัดสิน
– ผู้ตัดสินไม่สามารถเปลี่ยนคำตัดสินได้ ในกรณีที่การแข่งขัน กลับมาแข่งขันต่อ หลังมีการตัดสินไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ผู้ตัดสินสามารถเปลี่ยนคำตัดสินได้ หากเกมยังไม่กลับมาดำเนินต่อ หรือหากผู้ตัดสินได้ใช้เทคโนโลยี รีวิวเหตุการณ์การแข่งขัน ก็สามารถเปลี่ยนคำตัดสินได้
– หากมีการเล่นนอกเกม จนเป็นเหตุให้ต้องแจกใบเหลืองหรือใบแดง แต่ผู้ตัดสินที่ 1 ไม่เห็นเหตุการณ์ สามารถเป่าหยุดเกมในภายหลัง เพื่อย้อนมาให้โทษแก่ผู้เล่นได้
– หากมีการแสดงพฤติกรรมไม่เคารพต่อผู้ตัดสิน ผู้ตัดสินสามารถกล่าวตักเตือน, ให้ใบเหลือง และใบแดง ได้ในทันที รวมไปถึงผู้เล่นและทีมงานสตาฟฟ์โค้ช ในบริเวณเขตเทคนิคทุกคน
ในกรณีที่ไม่สามารถระบุตัวตน ผู้กระทำผิดได้ว่าเป็นใคร หัวหน้าผู้ฝึกสอน ในเขตเทคนิค จะต้องรับโทษแทน
– หากผู้เล่นถูกทำฟาวล์ ในเขตโทษ และต้องการเป็นผู้ยิงจุดโทษ ด้วยตัวเอง แต่ได้รับบาดเจ็บ จนต้องรับการปฐมพยาบาล สามารถปฐมพยาบาลได้ในสนาม โดยไม่ต้องออกนอกสนามแต่อย่างใด
ส่วนเกมการแข่งขันจะกลับมาดำเนินต่ออีกครั้ง เมื่อการปฐมพยาบาลเสร็จสิ้น เพื่อสร้างความเป็นธรรม ให้กับผู้เล่นที่ถูกทำฟาวล์
กติกาข้อ 7: ระยะเวลาของการแข่งขัน
– กำหนดเวลาพักที่ชัดเจน ระหว่าง “Drinks Breaks” และ “Cooling Breaks”
โดย drinks breaks มีเวลาพักไม่เกิน 1 นาที ส่วน cooling breaks มีเวลาพัก 90 วินาที – 3 นาที
กติกาข้อ 8: การเริ่มการแข่งขัน และการเริ่มเล่นใหม่
– ทีมที่ชนะการเสี่ยงถ่ายเหรียญก่อนเริ่มเกม สามารถเลือกได้ว่า จะเลือกเป็นฝ่ายเขี่ยลูกก่อน หรือเป็นฝ่ายเลือกแดน
– ผู้เล่นสามารถสัมผัสบอลได้เพียงครั้งเดียวในการเขี่ยบอล หากเขี่ยบอลพลาด และต้องเตะบอลซ้ำ จะเสียฟรีคิก ให้ฝ่ายตรงข้าม
– หากมีการดร็อปบอล ในกรอบเขตโทษ ผู้รักษาประตูต้องเป็นคนเตะบอลเริ่มเกมอีกครั้งเท่านั้น
สำหรับการดร็อปบอลนอกกรอบเขตโทษ ทีมของผู้เล่น ที่สัมผัสคนสุดท้าย จะได้เตะลูกเริ่มเกมต่อ โดยทีมฝ่ายตรงข้าม ต้องอยู่ห่างออกไป 4 เมตร หรือ 4.5 หลา
กติกาข้อ 9 : ลูกบอลอยู่ในและนอกการแข่งขัน
– หากลูกฟุตบอลสัมผัสโดนตัวผู้ตัดสิน และบอลอยู่ในสนาม ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเล่นของทีมบุก, บอลเปลี่ยนทางเข้าประตู หรือทีมสูญเสียการครองบอล ให้ถือว่าบอลนั้น เป็นบอลตาย และเริ่มเกมใหม่อีกครั้ง ด้วยการดร็อปบอล
หากบอลสัมผัสโดนตัวผู้ตัดสิน แล้วไปชนเสา, ชนคาน หรือธงเตะมุม ให้ถือว่าเกมยังดำเนินต่อไป
กติกาข้อ 10 : การพิจารณาผลการแข่งขัน
– ถ้าผู้รักษาประตูขว้างบอล เข้าสู่ประตูของฝ่ายตรงข้ามโดยตรง ไม่ถือว่าเป็นประตู และให้เริ่มเกมใหม่ ด้วยการเตะลูกตั้งเตะแทน
กติกาข้อ 12: การเล่นที่ผิดกติกาและประพฤติผิด
– หากมือหรือแขนของผู้เล่นฝ่ายรุก โดนบอลในกรอบเขตโทษ ให้ถือว่าเป็นแฮนด์บอลทุกกรณี โดยไม่พิจารณาว่าเจตนาหรือไม่
หากบอลที่โดนมือหรือแขนเข้าประตู หรือนำไปสู่การได้ประตู ให้ถือว่าไม่เป็นประตู
– หากผู้รักษาประตูใช้มือครอบครองลูกบอล โดยไม่ได้รับอนุญาต ในกรอบเขตโทษของตัวเอง เช่น ใช้มือรับบอล เมื่อเพื่อนร่วมทีมส่งคืนหลัง, เพื่อนร่วมทีมทุ่มบอลคืนให้ หรือปล่อยบอลสู่พื้น แล้วจับลูกบอลอีกครั้งหนึ่ง
จะเสียฟรีคิกให้ฝ่ายตรงข้าม แต่ไม่ถูกคาดโทษจากผู้ตัดสิน
– ในกรณีที่เพื่อนร่วมทีมทุ่มบอลคืนให้ หรือเพื่อนร่วมทีมส่งบอลคืนหลังให้ผู้รักษาประตู และผู้รักษาประตูใช้มือหรือแขนเล่นบอล ทั้งที่สามารถใช้เท้าเล่นบอลได้ จะเสียฟรีคิกให้ทีมฝ่ายตรงข้าม
– หากผู้เล่นหรือทีมสตาฟฟ์ ถูกไล่ออกก่อนการแข่งขันเริ่มต้น ผู้ตัดสินมีสิทธิ์ห้ามไม่ให้ผู้เล่นหรือทีมสตาฟฟ์ มีส่วนกับเกมการแข่งขัน
– หากผู้ตัดสิน ตัดสินใจแจกใบเหลืองหรือใบแดง การแข่งขันจะไม่สามารถกลับมาเริ่มได้อีกครั้งจนกว่า ผู้ตัดสินจะทำการจดชื่อเสร็จ
ยกเว้นในกรณีที่ทีมบุก มีโอกาสทำประตูแบบชัดเจน และผู้ตัดสินยังไม่เริ่มดำเนินการลงโทษ สามารถเล่นต่อได้ทันที ส่วนผู้ตัดสินสามารถย้อนมาลงโทษหลังเกมหยุดได้
หากทีมบุกปฏิเสธที่จะเล่นต่อ ผู้ตัดสินต้องคาดโทษผู้เล่นในทันที
– หากผู้เล่นส่งบอลเข้าประตู และแสดงออกท่าดีใจที่อันตราย หรือสร้างภาพลักษณ์เชิงลบให้กับเกมฟุตบอล ผู้ตัดสินสามารถคาดโทษได้ทันที ไม่ว่าลูกบอลที่เข้าประตู จะถูกตัดสินให้เป็นประตูหรือไม่ก็ตาม
– หากผู้เล่นทำแฮนด์บอล เพื่อปกป้องการเสียประตู หรือจังหวะชัดเจน ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียประตู ผู้เล่นคนนั้นต้องถูกไล่ออกสถานเดียว
– ผู้เล่นหรือทีมงาน สามารถถูกกล่าวตักเตือน หากปฏิบัติพฤติกรรมดังต่อไปนี้: แสดงพฤติกรรมที่ไม่มีความเคารพ หรือมารยาทในสนามแข่ง, ไม่เชื่อฟังคำกล่าวของทีมงานผู้ตัดสิน, แสดงอาการไม่เห็นด้วยกับการตัดสิน ของผู้ตัดสิน, ออกจากเขตเทคนิค โดยไม่ได้รับอนุญาติ
– ผู้เล่นหรือทีมงาน สามารถถูกคาดโทษ (แจกใบเหลือง) หากปฏิบัติพฤติกรรมดังต่อไปนี้: แสดงพฤติกรรมที่แสดงถึงการไม่เคารพผู้ตัดสิน อย่างชัดเจนในพื้นที่เขตเทคนิค, ตั้งใจถ่วงเวลาการแข่งขัน, เข้าในเขตเทคนิคของทีมคู่แข่ง, โยนหรือเตะขวดน้ำ, ทำพฤติกรรมล้อเลียนผู้ตัดสิน เช่น การปรบมือ, เข้าไปในเขตรีวิวของผู้ตัดสิน, กดดันให้ผู้ตัดสินแจกใบเหลืองหรือใบแดง, กดดันให้ผู้ตัดสินดู VAR, แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม หรือไม่เคารพต่อเกมการแข่งขัน
– ผู้เล่นหรือทีมงาน สามารถถูกไล่ออก (แจกใบแดง) หากปฏิบัติพฤติกรรมดังต่อไปนี้: ตั้งใจถ่วงเวลา ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามทำเกมบุก ด้วยวิธีการเตะบอลทิ้ง หรือไม่คืนลูกบอล, เดินออกจากเขตเทคนิค เพื่อแสดงพฤติกรรมไม่มีมารยาท หรือต่อว่าทีมงานผู้ตัดสิน, เข้าในเขตเทคนิคของฝ่ายตรงข้าม เพื่อท้าทาย หรือแสดงพฤติกรรมที่ก้าวร้าว, เขวี้ยงหรือเตะสิ่งของลงสนาม, เดินลงสนามเพื่อท้าทายผู้ตัดสิน, เดินลงสนามเพื่อขัดขวางการเล่น, แสดงพฤติกรรมก้าวร้าว เช่นการกัด หรือการถ่มน้ำลาย ใส่ผู้เกี่ยวข้องในเกมการแข่งขัน, ได้รับใบเหลืองใบที่ 2, แสดงพฤติกรรมที่รุนแรงเกินความจำเป็น ในการเข้าปะทะ
– หากผู้เล่นตั้งใจเตะ หรือเขวี้ยงสิ่งของใดก็ตาม ใส่ผู้เล่นหรือทีมงานของฝ่ายตรงข้าม ต้องเสียฟรีคิกให้ทีมฝ่ายตรงข้าม
กติกาข้อ 13: การเตะโทษ (การยิงฟรีคิก)
– ฟรีคิกสองจังหวะ ไม่สามารถเป็นประตูได้โดยตรง ต้องมีการสัมผัสตัวของผู้เล่นคนอื่น ถึงจะนับว่าเป็นประคู
– หากผู้เล่นเดินออกสนาม โดยไม่ได้รับอนุญาต จะเสียฟรีคิกให้กับฝ่ายตรงข้าม
– การเตะฟรีคิกของผู้เล่นในกรอบเขตโทษของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องเตะให้ออกจากกรอบเขตโทษอีกต่อไป
– หากมีการตั้งกำแพงป้องกันลูกฟรีคิก อย่างน้อย 3 คน ผู้เล่นทีมรุกต้องอยู่ห่างจากกำแพงอย่างน้อย 1 เมตร (1 หลา) ห้ามยืนคั่นอยู่ในกำแพง หากไม่ปฏิบัติตาม จะเสียฟรีคิกสองจังหวะ ณ จุดตั้งของกำแพง
– หากผู้เล่นทีมรุกสัมผัสบอล ขณะที่ผู้เล่นทีมรับกำลังจะเตะฟรีคิก ในกรอบเขตโทษของตัวเอง ให้เริ่มเตะฟรีคิกลูกนั้นใหม่อีกครั้ง
กติกาข้อ 14: การเตะโทษ ณ จุดโทษ
– เมื่อมีการยิงจุดโทษ ขาอย่างน้อยหนึ่งข้างของผู้รักษาประตู ต้องยืนอยู่บนเส้นปากประตู
– หากผู้ตัดสินเป่าให้สัญญาณยิงลูกจุดโทษ ผู้เล่นต้องยิงจุดโทษในทันที หากไม่ปฏิบัติตาม ผู้ตัดสินสามารถลงโทษได้
– หากผู้ยิงจุดโทษ สัมผัสลูกฟุตบอลติดต่อกัน ก่อนที่ลูกบอลจะสัมผัสผู้เล่นคนอื่น จะเสียฟรีคิกให้ฝ่ายตรงข้าม
กติกาข้อ 15: การทุ่ม
– นักฟุตบอลทั้งสองฝ่าย ต้องยืนห่างจากเส้นขอบสนาม เป็นระยะทาง 2 เมตร (2 หลา) ในขณะที่มีการทุ่ม
กติกาข้อ 16: การเตะจากประตู
– หากการเตะจากประตู ลูกบอลมีการขยับ เคลื่อนไหว ที่ชัดเจน ให้ถือว่าเกมเริ่มในทันที โดยที่บอลไม่จำเป็นต้องออกจากรอบเขตโทษ อีกต่อไป
– หากมีการเตะจากประตู แล้วผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามยังอยู่ในกรอบเขตโทษ เพราะไม่มีเวลาให้ออกจากกรอบเขตโทษ ให้เริ่มดำเนินเกมต่อได้ทันที
หากผู้เล่นคนนั้น ขัดขวางการเล่นของผู้รักษาประตู ให้ผู้รักษาประตูเล่นลูกตั้งเตะจากประตูใหม่อีกครั้ง
ขอขอบคุณ : ฟุตบอลทีมชาติไทย