เจ้าภาพร่วม ฟุตบอลโลก 2030 อัพเดทความพร้อมการจัดแข่งครบรอบร้อยปี
การแถลงความคืบหน้าการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2030 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 โดยคณะกรรมการผู้จัดการแข่งขัน ฟุตบอลโลก 2030 ได้มีตัวแทน 3 คนกล่าวกับสื่อมวลชนที่โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค เกี่ยวกับแนวคิดต่างๆในการเป็นเจ้าภาพร่วมอีก 6 ปีข้างหน้า
ฟุตบอลโลก 2030 จะเป็นการแข่งขันที่ครบรอบ 100 ปี โดยเมื่อ 1930 คือปฐทบทของทัวร์นาเม้นต์นี้ จัดแข่งที่ประเทศอุรุกวัย และจะเป็นครั้งแรกที่จะจัดร่วมกัน 3 ทวีป ยุโรป แอฟริกา และ อเมริกาใต้ มีคติประจำการแข่งขันคือ “Yalla Vamos 2030” คำว่า Yalla เป็นภาษาอาหรับ และ Vamos คือภาษาสเปน ซึ่งมีความหมายเหมือนกันคือ Let’s go
อันโตนิโอ ลารันโย อัพเดทถึงการแข่งนัดเปิดสนามที่ทวีปอเมริกาใต้ ที่อาร์เจนตินา ปารากวัย และอุรุกวัย “เป็นห้วงเวลาของการฉลองครบรอบ 100 ปี ฟีฟ่าจึงตัดสินใจเพิ่มอีก 3 ประเทศเป็นเจ้าภาพร่วมในอเมริกาใต้ จะใช้จัดแข่ง 3 เกม และจะจัดแข่งก่อนประเทศเจ้าภาพอื่นๆเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ เพื่อให้ทุกประเทศที่แข่งในอเมริกาใต้ มีเวลามากพอในการพักฟื้นร่างกาย และส่งผลกระทบน้อยที่สุด ทั้งในเรื่องของเวลาและสภาพอากาศ ก่อนที่จะแข่งเกมต่อไปในแอฟริกา หรือยุโรป”
ฮอร์เก้ โมวิงค์เกล กล่าวในแง่ของการเรียนรู้วัฒนธรรมจากฟุตบอลที่จะไปสู่แฟนบอลทั่วโลก “ทุกอย่างเป็นไปด้วยดี เรามีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย 3 ประเทศ (โมร็อกโก, โปรตุเกส และสเปน) ใกล้กันมาก ไม่มีปัญหาในเรื่องการเดินทางแน่นอน ในแต่ละประเทศจะมีสิ่งที่แตกต่างในแง่ของวัฒนธรรม แฟนๆที่เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลโลก จะได้สัมผัสความเป็นเอกลักษณ์ ธรรมเนียม อาหาร วิถีชีวิต ของทั้ง 3 ประเทศ”
ในเรื่องของสนามแข่ง สเปน และ โปรตุเกส เตรียมปรับปรุงในหลายๆสนาม ขณะที่โมร็อกโกวางแผนสร้างสนามแห่งใหม่ความจุ 115,000 ที่นั่ง จะเสร็จในปี 2028 มูลค่า 490 ล้านยูเอสดอลลาร์ หรือเป็นเงินไทยกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท โมฮาเหม็ด เกสซุส อีกหนึ่งคณะกรรมการอัพเดทในเรื่องของสนามที่จะกลายเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของวงการฟุตบอล
“ฟุตบอลโลกหลายๆครั้ง เคยสร้างสนามใหม่ที่มีความจุใหญ่ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรหลังจากนั้น ดังนั้นสนามกีฬาที่จะสร้างใหม่ ต้องมีความชัดเจนในเรื่องของการใช้งาน ต้องมีแผนและวัตถุประสงค์หลังจากจบฟุตบอลโลกไปแล้ว มันต้องเป็นการลงทุนอย่างคุ้มค่า และอยู่บนหลักเหตุผล เป็นการลงทุนอย่างชาญฉลาด เพื่อใช้สำหรับงานต่างๆในอนาคต ไม่ได้จบเพียงแค่ฟุตบอลโลกเท่านั้น”
นอกจาก โมร็อกโก, โปรตุเกส และสเปน ต่อมาในภายหลังอุรุกวัย, อาร์เจนตินา และปารากวัย ได้เป็นเจ้าภาพร่วมด้วย โดยจะจัดแข่งเกมแรกของทั้ง 3 ประเทศเท่านั้น เป็นแนวคิดของ จานนี อินฟานติโน ประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีฟุตบอลโลก ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกในปี 1930 ในเมืองมอนเตวิเดโอ ประเทศอุรุกวัย